ออมสินโชว์กำไรปีนี้ ทะลุ 3 หมื่นล้านบาท

ผลดำเนินงานของธนาคารในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 15,831 ล้านบาท และคาดว่า สิ้นปีนี้ จะมีกำไรสุทธิ 30,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน ทำให้ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้าคลังเป็นอันดับที่ 3 หรือที่ 4 รองจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า “เส้นทางของธนาคารเพื่อพัฒนา ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชน ลูกค้าและสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากดอกเบี้ยอัตราสูง”
“ตลอดช่วงระหว่างเวลา 2 ปี นับตั้งแต่เข้ามาทำงานในธนาคารออมสิน ผมผลักดันมาตรการและโครงการต่างๆ มากกว่า 45 โครงการ มีประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ ประมาณ 13 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เข้าถึงสินเชื่อ 5.7 ล้านราย และมี 2.76 ล้านรายเป็นลูกค้ารายใหม่ ที่ไม่มีเคยมีประวัติเข้าทางด้านเครดิต หรือสินเชื่อแม้แต่บาทเดียว”

นอกจากนี้ ธนาคารยังประสบความสำเร็จในการริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการถูกเอาเปรียบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงๆ ลดลงมาอยู่ในระดับที่เป็นธรรม ประกอบด้วย 1.การเข้าทำธุรกิจจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงช่วยกดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ให้ลดต่ำลง จาก 28% ลงเหลือ 16 – 18% โดยอนุมัติสินเชื่อให้ไปแล้วกว่า 1 ล้านราย
2.การปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากที่ดิน ซึ่งเป็นหลักประกันใน “โครงการสินเชื่อมีที่-มีเงิน” ทำให้อนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงเวลายากลำบากในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดเป็นวงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท และ3.โครงการปล่อยสินเชื่อผ่านแอป MyMo ได้มากถึง 1.6 ล้านราย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 540,000 ราย โดยที่ลูกค้าประชาชนไม่ต้องไปติดต่อที่สาขา

“ความสำเร็จจากหลายๆ โครงการในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารได้วางแผนและต่อยอดโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งในปีนี้ จะมี 2 โครงการที่สำคัญคือ 1.การก่อตั้งบริษัท มีที่มีเงิน จำกัด (non-bank) และ 2.การอนุมัติสินเชื่อ Digital Lending” นายวิทัย กล่าวและกล่าวว่าทั้ง 2 โครงการนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสสุดของปีนี้ หรือประมาณเดือนต.ค.นี้
สำหรับบริษัท มีที่มีเงิน จำกัด หรือ non-bank ขณะนี้ จัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายทำธุรกิจสินเชื่อที่ดิน และขายฝาก โดยตั้งเป้าลดอัตราดอกเบี้ยในธุรกิจประเภทนี้ลง 5-6% หรือมาอยู่ที่ประมาณ 15-18% ต่อปี และในปีหน้าวางแผนที่จะปล่อยกู้ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ non-bank ทั้งหมด

ส่วน Digital Lending หรือ การให้กู้ยืมเงิน (รับสมัคร/ปล่อยสินเชื่อ) ที่มีการบริหารจัดการหรือดำเนินงานผ่านช่องทางดิจิทัล ผ่านแอบ MyMo จะปล่อยสินเชื่อรายละ 10,000-20,000 บาท ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-1.50% ต่อเดือน โดยไม่ขอรับการสนับสนุนเอ็นพีแอลจากรัฐบาล
“ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคม 100% แต่ไม่ใช่ทำเพื่อสังคม 100% เพราะถ้าทำเพื่อสังคม 100% ก็ไม่มีกำไร แต่ธนาคารออมสินมีกำไร เพียงแต่กำไรของเรานั้น ไม่มาก และชี้นำตลาดด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าคนอื่น เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เราชี้นำจนทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงมาอยู่ที่ 16-18% จากเดิมชนเพดาน 36% ต่อปี”
ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ไม่สามารถตอบได้ว่า จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนานที่สุดได้เท่าไหร่ แต่ในทางปฏิบัติ วางแผนเอาไว้หลายแนวทางเช่น ถ้าดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% เราก็มีสูตรที่จะทำ 1 2 และ 3 4 แต่ถ้าขึ้นไปมากกว่านั้น จะก็ต้องใช้อีกสูตรหนึ่ง จึงขอให้ทุกอย่างเป็นปัจจุบัน ถ้าหากมีกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะพิจารณาอย่างรอบคอบ