สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ก.ค. 65

ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่

ช่วงวันที่ 13-14 ก.ค. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตราด (196 มม.) จ.นครราชสีมา (127 มม.) และ จ.ระนอง (127 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 43,888 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,206 ล้าน ลบ.ม. (53%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำหลังประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ฉบับที่ 20/2565 เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ ดังนี้
จ.ชัยภูมิ มีฝนตกหนักในพื้นที่มากกว่า 100 มม. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตตัวเมืองชัยภูมิ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับเทศบาลเมืองชัยภูมิเร่งสูบระบายน้ำออกจากผิวจราจรลงสู่ลำห้วยเสว และกรมชลประทานได้ติตตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ พร้อมบริหารจัดการน้ำผ่านประตูระบายน้ำด้านเหนือเขตตัวเมือง โดยผันน้ำเลี่ยงเมืองชัยภูมิไปทาง ต.โพนทอง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จ.ระนอง มีฝนตกหนักในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 65 ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองลำเลียงเพิ่มขึ้น เข้าท่วมผิวถนนชุมชนบ้านสองแพรก ต.ลำเลียง อ.กระบุรี ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำลงคลองลำเลียง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพิ่มเติมจำนวน 1 เครื่อง โดยคาดกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในวันที่ 13 ก.ค. 65
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 13 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2565 ลงวันที่ 7 ก.8. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 8 – 14 ก.ค. 2565 เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและสาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 20/2565 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 11 – 15 ก.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยบริเวณภาคเหนือ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำปาง แพร่ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จังหวัดเลยหนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี ภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่อุดตัน โดยได้ดำเนินการบริเวณถนนท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ถนนสวนผัก เขตตลิ่งชัน ถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี ถนนหม่อมเจ้าตัดเสรีไทย เขตพระนคร ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี ถนนลาดพร้าววังหิน
ขาเข้าจากซอยลาดพร้าววังหิน 89 เขตลาดพร้าว
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 13 – 14 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 43,888 ล้าน ลบ.ม. (53%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 38,207 ล้าน ลบ.ม. (53%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,210 ล้าน ลบ.ม. (58%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,471 ล้าน ลบ.ม. (49%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนน้ำพุง