สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 ก.ค. 65
ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง
ช่วงวันที่ 7-10 ก.ค. 65 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.จันทบุรี (90 มม.) จ.ระนอง (76 มม.) และ จ.เชียงราย (53 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 43,857 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,216 ล้าน ลบ.ม. (53%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และ 11 ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการน้ำและการเผชิญเหตุทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถบริหารจัดการ ติดตาม ประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ รวมถึงการแจ้งเตือนและการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบอย่างเป็นเอกภาพทันต่อสถานการณ์ ประกอบกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแผนรับมืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการฤดูฝนปี 65 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้เกิดกับประชาชนน้อยที่สุด
ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินปริมาณฝนในพื้นที่ภาคกลางปีนี้ พบว่าจะมีปริมาณฝนตกหนักในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. โดยมีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 566 มม. มากกว่าค่าเฉลี่ย 3% และคาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย รวม 446 ตำบล 80 อำเภอ 15 จังหวัด
สทนช. ลงพื้นที่และประชุมเพื่อเตรียมการจัดพิธีเปิดโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองพระพิมล (Kick off) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 8 ก.ค. 65 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการฯ ทั้งนี้ แผนพัฒนาและอนุรักษ์คลองพระพิมล จังหวัดนนทบุรี-จังหวัดนครปฐม เป็นแผนที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูคลองสายสำคัญที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำเจ้าพระยา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2565 ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 1 – 8 ก.ค. 2565 เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำแม่สาย จ.เชียงราย และลำน้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และตาก และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โดยฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำและเผชิญเหตุ ได้ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถติดตามประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้มีความเป็นเอกภาพ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย ผ่านรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยมีขั้นตอนในการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้านพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และการใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 6 – 11 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
4. มาตรการและการช่วยเหลือ
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจความเสียหายจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงบ่อน้ำบาดาล และระบบประปาหมู่บ้านที่น้ำท่วม ทั้งนี้ ได้มอบน้ำดื่มบรรจุขวด ให้แก่ผู้แทน องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อ้อ เพื่อนำไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยครั้งนี้ต่อไป