สลากเปิดรับฟังความคิดเห็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดโครงการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคม เกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562
ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานฯ จัดทำโครงการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565 ว่า เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ที่กำหนดว่า หากสำนักงานสลากฯ จะออกประกาศกำหนดประเภท และรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย สำนักงานสลากฯจึงได้ออกประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ต่อไป
พันโท หนุน ศันสนาคม กล่าวว่า สำนักงานสลากฯ จะเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่จะรับฟังความคิดเห็นฯ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2565 เป็นต้นไปผ่านช่องทางต่างๆ ประกอบด้วย เว็บไซต์สำนักงานฯ www.glo.or.th หรือ newlottery.glo.or.th เว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี www.publicconsultation.opm.go.th รวมทั้งช่องทางอื่นๆ ของสำนักงาน ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ www.glo.or.th หรือที่ newlottery.glo.or.th และเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน www.publicconsultation.opm.go.th รวมทั้งอีเมล์ newlottery@glo.or.th ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. – 10 ส.ค. 2565
ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยการสัมภาษณ์รายบุคคลและการสนทนากลุ่มย่อย (Focus group) นั้น จะจัดขึ้นในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเลย จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ระหว่างวันที่ 20 ก.ค. – 10 ส.ค. 2565 ขั้นตอนหลังจากนั้น สำนักงานฯ จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด รวมทั้งผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมในทุกมิติ และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณานำเข้า
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป