สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 มิ.ย. 65
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (109 มม.) จ.พังงา (86 มม.) และ จ.ตราด (57 มม.)
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 5 ช่วงวันที่ 30 มิ.ย.–2 ก.ค. 65 เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มลดลง
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 44,118 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,447 ล้าน ลบ.ม. (54%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศึกษาจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน และติดตามสถานการณ์น้ำประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 (มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.สุโขทัย โดยกรมชลประทานวางแผนการบริหาร
จัดการน้ำในแม่น้ำยมเมื่อเมื่อน้ำจากตอนบนไหลลงมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ จะทำการหน่วงน้ำไว้บริเวณหน้าประตูระบายน้ำและผันน้ำฝั่งซ้ายเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำคลองหกบาท ก่อนจะผันน้ำลงแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่า จากนั้นจะผันน้ำฝั่งขวาผ่านทางประตูระบายน้ำคลองน้ำโจน พร้อมทั้งควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ และจะผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้งสองฝั่งของแม่น้ำยม ซึ่งปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะถูกส่งเข้าคลองไปเก็บกักไว้ในทุ่งทะเลหลวงและแก้มลิงต่างๆ ที่ยังสามารถรับน้ำได้