สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 มิ.ย. 65
ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.แม่ฮ่องสอน (94 มม.) จ.ราชบุรี (82 มม.) และจ.นราธิวาส (78 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มทรงตัว
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 44,317 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,617 ล้าน ลบ.ม. (54%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง)
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีกำหนดการลงพื้นทีติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำวังโตนด
ณ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี
เพื่อหาแนวทางความร่วมมือ และความเข้าใจร่วมกันจากทุกฝ่ายในการเดินหน้าโครงการที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรภาคสังคม หรือเอ็นจีโอ (NGOs) ในการดำเนินโครงการเพื่อให้เป็นไปตามแผน ซึ่งขณะนี้แผนการก่อสร้างได้ผ่านความเห็นชอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ่างเก็บน้ำวังโตนด เป็น 1 ใน 4 แห่งของอ่างเก็บน้ำ ที่ ครม.มีมติ วันที่ 7 เม.ย. 2552 ให้กรมชลประทานศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี เนื่องจาก อ.แก่งหางแมว มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยมากถึง 1,841 มม.ต่อปี แต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำที่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 แห่ง คือ อ่างคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้าน ลบ.ม. และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567
ปริมาณน้ำมีมากในช่วงฤดูมรสุม แต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำที่รองรับเพียงพอในการเก็บน้ำจึงจำเป็นต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนดเป็นแห่งที่ 4 หากก่อสร้างอ่างฯ ทั้ง 4 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้มีความจุของอ่างรวมทั้งหมด 308.56 ล้าน ลบ.ม. ที่จะเป็นระบบช่วยจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่จันทบุรี จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคงทางด้านน้ำอย่างเป็นระบบ พร้อมแผนการแบ่งน้ำส่วนเกินที่จะป้อนไปยังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด ตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวของเมืองในอนาคต