คปภ. ยกทีมลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โปรโมท “ประกันภัยข้าวนาปี – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”
คปภ.เปิดตัวโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เติมองค์ความรู้ด้านการประกันภัยประกันภัยข้าวนาปี – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้เกษตรกรสู้ภัยธรรมชาติ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 29 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,925,065,000 บาท นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีพื้นที่เป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 2.12 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนเงินทั้งสิ้น 224,442,600 บาท
โดยมติครม. ดังกล่าว ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีและกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบ และหลักเกณฑ์การรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2565 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2565 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2565 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น ต่อเกษตรกร โดยปีนี้สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดแรกในการลงพื้นที่พบปะเกษตรกร และเปิดโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เนื่องจากข้อมูลสถิติปี 2564 จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 342,640 ไร่ และมีการทำประกันภัย จำนวน 201,438 ไร่ หรือคิดเป็นการเข้าถึงการประกันภัย (Penetration Ratio) อยู่ที่ 58.79% และในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 66,896 ไร่ และมีการทำประกันภัย จำนวน 5,548 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราการเข้าถึงการประกันภัย (Penetration Ratio) อยู่ที่ 8.29% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเริ่มต้นโครงการในปี 2563 ถึง 10 เท่า อันเนื่องมาจากเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัย และการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ประกอบกับได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรีที่มีการส่งเสริมเกษตรกรให้ทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อทำให้เกษตรกรเข้าใจและทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ณ หอประชุมรวมใจภักดิ์ โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ และรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรกว่า 100 ราย เข้าร่วมและมีการสะท้อนปัญหา เช่น กรณีไม่เคยมีประวัติการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาก่อน จะเข้าสู่ระบบการทำประกันภัยได้อย่างไร กรณีเช่าพื้นที่เพื่อเพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถเข้าสู่ระบบประกันภัยได้หรือไม่ รวมถึงกรณีการทำประกันภัยสำหรับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยางพารา และสับปะรด เป็นต้น ซึ่งเลขาธิการ คปภ. และคณะฯ ได้ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ จนเป็นที่เข้าใจ รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป
จากนั้นคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่แปลงนาสาธิตของ นางดอกบัว สมานทรัพย์ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีจำนวน 21 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อศึกษากระบวนการการทำนาข้าวตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเม็ดพันธุ์ข้าวเพื่อนำไปเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี และมีคุณภาพ
สำหรับวันที่ 22 มิ.ย. 2565 เป็นการจัดอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้แก่เกษตรกรตาม “โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2565” ณ ห้องประชุมโดม ออโรร่า รีสอร์ท อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้การคุมเข้มตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งการอบรมให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี ที่จะสามารถนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อันจะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า เกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวนาปีจะให้ความคุ้มครองกรณีต้นข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ 1. ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก 2. ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง 3. ภัยลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น 4. ลูกเห็บ 5. ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง 6. ภัยไฟไหม้ และ 7. ภัยจากช้างป่า รวมไปถึงภัยเพิ่มเติมอื่น ได้แก่ ภัยศัตรูพืช และโรคระบาด โดยให้ความคุ้มครอง 1,190 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดให้ความคุ้มครอง 595 บาท/ไร่
สำหรับชาวนาที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกของ ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในทุกโซนพื้นที่ เบี้ยประกันภัย 99 บาท/ไร่ โดยรัฐบาลกับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยประกันภัยให้ฟรี แต่ถ้าเป็นชาวนาที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่กู้เงินบางส่วน และประสงค์จะทำประกันภัยเพิ่มเติม เบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามความเสี่ยงโดยมี 3 โซน 3 สี ได้แก่ โซนสีเขียว 99 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 199 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 218 บาท/ไร่ แต่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 59.40 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะต้องจ่ายเอง คือโซนสีเขียว 39.60 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 139.60 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 158.60 บาท/ไร่ ตามลำดับ
ส่วนเกษตรกรรายใดที่ต้องการได้รับความคุ้มครองส่วนเพิ่มจากความคุ้มครองพื้นฐานที่ได้กล่าวไปแล้ว ทั้งในส่วนภัยธรรมชาติ 7 ภัย ซึ่งคุ้มครอง 240 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งคุ้มครอง 120 บาท/ไร่ ก็สามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเองทั้งหมด ดังนี้ โซนสีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 27 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง จ่ายเบี้ยประกันภัย 60 บาท/ไร่ และโซนสีแดง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาท/ไร่
ดังนั้น ถ้าหากปลูกข้าวนาปีและไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ควรรีบไปซื้อประกันภัยก่อนวัน เวลา ตามแต่ละพื้นที่ที่กำหนดวันสิ้นสุดรับประกันภัยไว้ โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา ตามกลุ่มจังหวัด ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีถือว่าพิเศษกว่าจังหวัดอื่น ๆ เพราะเป็น 1 ใน 5 ของจังหวัดภาคตะวันตก ที่สามารถซื้อประกันภัยได้ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 (จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดการซื้อประกันภัยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา)
ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นั้น จะได้รับความคุ้มครอง 7 ประเภทภัยเหมือนกัน แต่มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่าเล็กน้อย (เพราะต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าข้าวนาปี) โดยความคุ้มครองพื้นฐานภัยธรรมชาติ 7 ภัย คุ้มครอง 1,500 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาดคุ้มครอง 750 บาท/ไร่
สำหรับชาวนาที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกของ ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในทุกโซนพื้นที่ เบี้ยประกันภัย 160 บาท/ไร่ โดยรัฐบาล กับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยเป็นลูกค้าประกันภัยให้เช่นเดียวกับประกันภัยข้าวนาปี แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่กู้เงินบางส่วน และประสงค์จะทำประกันภัยเพิ่มเติม เบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงโดยมี 3 โซน 3 สี ได้แก่ โซนสีเขียว (ความเสี่ยงต่ำ) 150 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง (ความเสี่ยงปานกลาง) 350 บาท/ไร่ และโซนสีแดง (ความเสี่ยงสูง) 550 บาท/ไร่ แต่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะต้องจ่ายเอง คือ โซนสีเขียว 60 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 260 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 460 บาท/ไร่ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ถ้าเกษตรกรมีความประสงค์ได้รับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 240 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 120 บาท/ไร่ เกษตรกรสามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเองทั้งหมด ดังนี้ โซนสีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง เบี้ยประกันภัย 100 บาท/ไร่ และโซนสีแดง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาท/ไร่ ซึ่งการทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝนได้สิ้นสุดการขายไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้นเกษตรกรรายใดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 รอบ ก็ยังสามารถซื้อประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 – 15 ม.ค. 2566
“เพื่อมิให้พลาดโครงการดี ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง ผมจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่กาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รีบไปทำประกันภัยข้าวนาปี ก่อนวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถทำประกันภัยฤดูแล้งได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 – 15 ม.ค. 2566 เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดต้องการข้อมูลความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย สามารถโหลดแอปพลิเคชัน “กูรูประกันข้าว” ได้ฟรีผ่านโทรศัพท์มือถือของท่านทุกระบบ เพื่อที่ท่านจะสามารถสืบค้นข้อมูล ตรวจสอบพื้นที่ความเสี่ยง รวมถึงติดตามสถานะการทำประกันภัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย