สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 มิ.ย. 65
ประเทศไทย แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (180 มม.) จ.สงขลา (146 มม.) และ จ.นครนายก (114 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,030 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,259 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง)
กอนช. ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศผ่านการดำเนินงานของ สทนช. ดังนี้
วานนี้ (17 มิ.ย. 65) สทนช. ประชุมคณะทำงานไทย ครั้งที่ 2 โครงการร่วมบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง ระยะ 3 พื้นที่ชายแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) โดยมีที่ปรึกษาระดับประเทศ ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ทีมงานศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (ICEM) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสรุปทบทวนแผนงานและกิจกรรมที่สำคัญของโครงการร่วมระยะ 3 ปี 2565 ร่างแผนปฏิบัติการของแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งของลุ่มน้ำย่อย 9C-9T แนวทางการจัดหาทุนและเอกสารโครงการเพื่อขอทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ภารกิจภาคสนามและแผนโครงการสาธิตสำหรับมาตรการที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (NbS) รวมทั้งร่วมพิจารณาแผนการทำงานและขั้นตอนต่อไป
สทนช. จัดประชุมผังน้ำครั้งที่ 2 โครงการผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 65 โดยครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรัง กระบี่ ระนอง พังงา และพัทลุง เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำและแนวทางการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ได้รับทราบและร่วมพิจารณาโดยรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างผังน้ำฉบับที่ 2 ก่อนที่จะนำกลับมารับฟังความคิดเห็นในลำดับต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2565 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสุทรปราการ ในระหว่าง วันที่ 14 – 20 มิ.ย. 65 เวลาประมาณ 18.00 – 00.30 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงกว่าที่คาดหมาย คาดการณ์ว่าระดับน้ำ มีความสูงประมาณ 1.70 – 2.00 ม.รทก. ส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทานดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำที่แม่น้ำน้อยบริเวณคลองหกวาสายล่าง ช่วงคลอง 12 ตำบลลำไทร อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นการตัดวงจรผักตบชวาไม่ให้แพร่ขยายพันธุ์ ป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 18 – 19 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกียในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ส่วนในช่วงวันที่ 20 – 23 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมจะพาดผ่านประเทศเมียนมา และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัด ปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,030 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 39,259 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,323 ล้าน ลบ.ม. (61%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,448 ล้าน ลบ.ม. (48%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนน้ำพุง
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานงานสัมมนาการ บริหารจัดการน้ำนานาชาติ “Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand: Water for Life” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนโดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศมีเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล