สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 มิ.ย. 65
ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.ยะลา (86) จ.ขอนแก่น (52) และ จ.นครสวรรค์ (52)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,790 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,930 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย จำนวน 2 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 4 แห่ง
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงราย และน่าน
กอนช. ติตตามหน่วยงานดำเนินการเตรียมความพร้อม
มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี
กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมและวางแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม-น่าน จ.พิษณุโลก ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน อย่างเคร่งครัด โดยวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มาวางแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก โดยใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานร่วมกับการจัดจราจรทางน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งวางแผนการเพาะปลูกฤดูฝน ปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ จ.พิษณุโลก ให้เร็วขึ้น เพื่อให้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง
เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำตามหลักวิศวกรรมให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึง ปริมาณ ระยะเวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมโยงของลุ่มน้ำ เป็นหลัก เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และต้องรายงานสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้รับทราบ ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 มิ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และสนับสนุนน้ำสะอาด ในช่วงวันที่ 13 พ.ค. – 9 มิ.ย. 2565 โดยสูบน้ำ จำนวน 0.26 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 68 ไร่ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,203 ครัวเรือน
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 10 – 13 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณภาคเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 14 – 15 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณประเทศไทยตอนบน และภาคใต้
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,790 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 39,930 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,413 ล้าน ลบ.ม. (62%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,447 ล้าน ลบ.ม. (48%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนน้ำพุง
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 10,295 ล้าน ลบ.ม. (41%) โดยเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
4. สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงปกติ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกมีแนวโน้มลดลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีแนวโน้มทรงตัว ภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำได้ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพด้านวิศวกรรมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนวิชาการและวิชาชีพด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวกับงานพัฒนาบุคลากร ทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชน รวมถึงการสร้างมาตรฐานวิชาชีพในการทำงานของบุคลากรด้านวิศวกรรม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมระหว่างสององค์กร เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในงานวิศวกรรมทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน