สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตราด (101 มม.) จ.พังงา (89 มม.) และ จ.เชียงใหม่ (86 มม.)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ อ.กะปง ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง และคุระบุรี จ.พังงา อ.เมือง ละอุ่น กะเปอร์ กระบุรี และสุขสำราญ จ.ระนอง อ.พนม บ้านตาขุนคีรีรัฐนิคม และวิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,242ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,328 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง)
รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบ โดยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง พร้อมทั้งจัดหาและเพิ่มปริมาณแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมตลอดจนน้ำอุปโภค-บริโภค ให้เพียงพอทุกพื้นที่ เช่น การขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆ ภายใต้แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ควบคู่กับพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ โครงการจัดทำผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai Water ซึ่งขณะนี้ สทนช. ได้เริ่มแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ผ่านระบบ Thai Water Plan โดยจะเริ่มใช้ระบบจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นปีแรก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
1.1 กรุงเทพมหานคร ติดตามสภาพฝน พร้อมทั้งมีการดำเนินการลดระดับน้ำในคลอง ให้อยู่ในแผน และจัดเก็บขยะที่ไหลมากับน้ำ พร้อมทั้งได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
1.2 กรมทรัพยากรน้ำ ตรวจสอบซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการประเมินปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบัน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สำหรับวางแผนช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่
2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 2 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 5 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง
3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค. 65 ถึงปัจจุบัน)
3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 16,515 ล้าน ลบ.ม. (35%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 14,735 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,340 ล้าน ลบ.ม. (23%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีอ่างเก็บน้ำที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 4 แห่ง (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 3,779 ล้าน ลบ.ม. (21%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 800 ล้าน ลบ.ม. (20%)
4. สถานการณ์อุกทกภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้
จังหวัดพังงา เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลบางเตย และหมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองฯ บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 19 ครัวเรือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัดพังงา เข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว บัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว