สสว. เผย การทำงานของโลกปรับสู่ Gig Economy แนะ SME ควรปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ/ลดต้นทุน
สสว. เผยผลการศึกษาเรื่อง “Gig Economy” ชี้เป็นแนวโน้มเปลี่ยนแปลงการทำงานของโลก สะท้อนจากการเติบโตของ Gig Workers ทั้งในสหรัฐฯ อังกฤษ จีน ฯลฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องกว่าร้อยละ 25-35 คาดอัตราเพิ่มจะสูงยิ่งขึ้นหลังวิกฤติ COVID-19 ขณะที่ไทยเพิ่มกว่า 2 เท่าตัวเมื่อสิ้นปี 2564 และมีแนวโน้มจะเป็นรูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการและคนทำงานในอนาคต แนะเอสเอ็มอีใช้ประโยชน์ Gig Workers เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ภาครัฐควรจัดระบบฐานข้อมูลและการดูแลที่เหมาะสม
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่เทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั้งโลก รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ๆ เช่น Gen Y และ Gen Z ที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการทำงานแบบครั้งคราว หรือ Gig Economy เพิ่มสูงขึ้น และเชื่อว่า จะมีอัตราเร่งแบบก้าวกระโดดหลังวิกฤติ COVID-19 ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงดำเนินการศึกษาให้ทราบถึงสถานการณ์ ทิศทางและแนวโน้มของ Gig Economy เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนเอสเอ็มอีให้ใช้ประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้กับตนเอง รวมถึงจัดทำแนวทางการส่งเสริม Gig Workers ให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศที่มีศักยภาพอีกทางหนึ่ง
“Gig Economy เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำงานแบบครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างแล้วจบไป ของกลุ่มคนทำงานที่เรียกว่า Gig Workers ซึ่งเป็นทั้งลูกจ้างแบบชั่วคราว สัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ คนที่ทำธุรกิจส่วนตัวแบบที่ไม่มีลูกจ้าง เช่น คนทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ อาจารย์ นักวิจัย นักแสดง เทรนเนอร์ ช่างแต่งหน้า จักรยานยนต์รับจ้าง พนักงานขาย ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจนี้เติบโตตั้งแต่หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2552 และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ Gig Economy เติบโตสูงขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่องรวมทั้งในประเทศไทย มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น Youtuber Influencer เป็นต้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ สสว. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องให้ความสำคัญ” ผอ.สสว. กล่าว
จากข้อมูลในกลุ่มประเทศ OECD พบว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตัวเลข Gig Workers ในหลายประเทศเติบโตอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี 2558-2562 อัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 โดยปี 2562 มี Gig Workers ประมาณ 57 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 35 ของแรงงานทั้งประเทศ สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2559-2562 จำนวน Gig Workers เพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนประเทศจีนมี Gig Workers ประมาณ 200 ล้านคนทั่วประเทศ คิดเป็น 1 ใน 4 ของแรงงานชาวจีนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งรายงานของ LinkedIn ระบุว่า มีผู้ทำงานอิสระในจีนเพียง 30 ล้านคนเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย Gig Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจ้างงานนอกระบบทั้งหมด เช่น แรงงานภาคการเกษตรที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่ใกล้เคียงช่วงนอกฤดูทำการเกษตร กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ เป็นต้น แม้จะยังไม่มีการเก็บข้อมูลทางสถิติอย่างเป็นทางการ แต่มีข้อมูลที่สามารถสะท้อนภาพ Gig Workers ในประเทศไทยได้ คือ จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม ตัวเลข ณ เดือนธันวาคม 2564 มีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงประมาณร้อยละ 200 หรือ 2 เท่าตัว
“การขยายตัวเพิ่มขึ้นของ Gig Workers นี้ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ควรนำมาพิจารณาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ เพราะมีข้อดีสำคัญ 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ 1. ช่วยลดต้นทุนการดูแลพนักงาน เนื่องจากการจ้างงาน Gig Workers มีความยืดหยุ่น สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการจ้างพนักงานประจำ 2. มีประสิทธิภาพการทำงาน เพราะ Gig Workers มักจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ช่วยสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถรับงานได้เพิ่มขึ้น หรือมีความหลากหลายมากขึ้น ลดความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานได้ 3. เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจด้านความคิดสร้างสรรค์ การจ้าง Gig Workers จะช่วยเพิ่มสีสันและเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้เอสเอ็มอีหลุดออกจากรูปแบบวิธีคิดเดิม ๆ ที่เคยชิน นอกจากนี้ Gig Workers มักจะทำงานกับธุรกิจที่หลากหลาย จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมและทิศทางของตลาดได้ดี” ผอ.สสว. กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่า Gig Workers จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดคำจำกัดความที่ชัดเจนของ Gig Workers และยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ทำงานในลักษณะนี้ ซึ่งหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นระบบ จะช่วยให้มีการกำหนดแนวทางการส่งเสริมสนับสนุน กลุ่มคนทำงานลักษณะนี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบของ Gig Economy ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป