หอฯไทยชี้การเมือง-ส่งออกฉุดจีดีพีโต 3.8%
หอการค้าฯ มั่นใจจีดีพีปี’62 ยังโต 3.8% แม้นักลงทุนจะชะลอการตัดสินใจเชิง “เว็ท & ซี” ชี้ปมการเมืองคือตัวการ ผสานการส่งออกครึ่งปีแรกที่หดตัว “เติบโตแบบติดลบ” คาดไตรมาส 4 มีโอกาสฟื้นตัว ฉุดเศรษฐกิจไทยได้
“จังหวะทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ต่างเฝ้ามองสถานการณ์การเมืองนับจากนี้ ว่าทิศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวระหว่างแถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ร่วมกับ นายกลินท์ สารสิน ปธ.กก.หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ณ อาคาร 24 (ตึกเรือใบ) ชั้น 18 ม.หอการค้าไทย เมื่อช่วงสายวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา
เขาเชื่อว่าภาพการเมืองไทยหลังวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศจำนวน ส.ส.อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) พร้อมการประกาศใบเหลือ ใบแดง ใบส้ม และกำหนดจัดเลือกตั้งใหม่ว่าจะมีกี่เขต ตรงนั้นจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาจได้เห็นคะแนนที่บางพรรคการเมืองชนะขาด หรืออาจจะกลับมาปริ่มเสียงเหมือนตอนนี้ก็เป็นได้ ทั้งนี้ หากจำนวนที่ กกต.ประกาศออกมา มากพอจะเปิดประชุมสภาสมัยแรกได้ ก็น่าจะได้เห็นรัฐบาลที่แม้จะเป็น “รัฐบาลปริ่มเสียง” ก็ตาม
“รัฐบาลปริ่มเสียงสามารถบริหารประเทศได้ เพียงแต่เวลาประชุมสภาฯเพื่อโหวตกฎหมายสำคัญๆ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณฯ จำเป็นจะต้องคุมเสียงกันให้ดี ห้ามขาด ห้ามลา ตรงนี้เองที่ทำให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาล เกรงว่าจะอยู่บริหารประเทศได้ไม่นานนัก”
ดร.ธนวรรธน์ เชื่อว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยเสียงของ 2 สภาฯ จะทำให้โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยก็มีสูง อย่างไรก็ตาม หากผลการของ กกต.ออกมา และทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างไร แน่นอนว่า หากพรรคประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าการบริหารประเทศย่อมสานต่อจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน
สำหรับความเชื่อมั่นของหอการค้านั้น เขาย้ำว่า ปัจจัยการส่งออกยังไม่ใช่ตัวจักรสำคัญของการผลักดันหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หากดูในไตรมาสที่ 1 จะเห็นว่ามีการเติบโตในอัตราที่ติดลบ เชื่อว่าในไตรมาส 2 ก็คงจะอยู่สภาพเดียวกัน คือ ไม่ดีขึ้นมากนัก นั่นเพราะยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหา Brexit
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในไตรมาสที่ 4 การส่งออกจะกลับมาเป็นปัจจัยบวกให้กับเศรษฐกิจไทย และน่าจะทำไห้จีดีพีทั้งปีเติบโตได้ในช่วง 3.5-3.8% ซึ่งในมุมของ ม.หอการค้าไทยนั้น ยังเชื่อว่าจีดีพีในปี’62 น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.8% ทั้งนี้ ภาพการเมืองจะต้องมีความชัดเจนและการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องเกิดขึ้นในช่วงหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีแล้ว
“รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย โดยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ 2-3 เดือน ด้วยเงิน 20,000 ล้านบาท ในช่วงที่ภาพการเมืองยังไม่ชัดเจน สิ่งนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ขณะที่ภาคเอกชนและภาคประชาชนเอง ก็ต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดูแลและรักษาความสะอาดของแหล่งท่องเที่ยว” ดร.ธนวรรธน์ ย้ำและว่า อยากให้คนไทยทุกฝ่ายยึดถือและปฏิบัติตามกรอบรัฐธรรมนูญ และระบบรัฐสภา เนื่องจากการเมืองอาจเห็นต่างกันได้ และหากต้องชุมนุมประท้วง ก็ควรอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ประท้วงในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งการแสดงออกทางการเมืองในลักษณะนี้ จะทำให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เกิดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ด้าน นายกลินท์ กล่าวว่า ตนเพิ่งเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อคืนวานนี้ เท่าที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่น พวกเขาสอบถามกันมากเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งของไทย อยากทราบว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะอาจมีผลต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ได้ยื่นขอสิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอแล้ว หรืออยู่ระหว่างการยื่นขอฯนั้น ต่างก็เชื่อมั่นประเทศไทย ส่วนนักลงทุนที่ยังไม่ได้ยื่นขอหรือยังไม่ได้เข้าลงทุนในไทย ยังคงรอดูสถานการณ์การเมืองไทย ในลักษณะ “เว็ท แอนด์ ซี” ต่อไป.