ธ.ก.ส. หนุนคนรุ่นใหม่ รวมพลังกลับมาพัฒนาบ้านเกิด
ธ.ก.ส. หนุนคนรุ่นใหม่ ที่มีพลังกาย พลังใจ พลังความคิดสร้างสรรค์ และความรักต่อถิ่นฐานบ้านเกิด มาร่วมพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนภายใต้หลัก BCG โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ชูต้นแบบ New Gen Hug บ้านเกิด ที่มีแนวทางการพัฒนาธุรกิจที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในชุมชน สร้างโอกาสให้กับผู้สูงอายุในท้องถิ่นได้มีงานทำ มีรายได้และความสุข โดย ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนสานฝันการพัฒนา เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมบูธและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายมนูญ ทนะวัง ผู้ชนะเลิศจากการประกวดโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของคนรุ่นใหม่ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การเข้าไปช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนรวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน ภายใต้หลัก BCG โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมให้ข้อมูล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน จึงได้สั่งการและมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน 8 แนวทาง ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2. การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ และให้ทุก SFIs เร่งกำหนดวิธีปฏิบัติและแนวนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 3. การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 4. การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ 5. การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 6. การแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 7. การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs และ 8. การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับ ธปท. SFIs และธนาคารพาณิชย์ ดำเนินโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรับธุรกิจและมาตรการต่าง ๆ ให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณี
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. นอกจากดำเนินงานตามแนวทางที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านการเกษตร โดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรับธุรกิจ การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและการเติมทุนให้เพียงพอต่อการขยายงานแล้ว ในส่วนของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต และถูกเลิกจ้าง รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ ซึ่งบางส่วนย้ายกลับภูมิลำเนา เพื่อแสวงหาแนวทางในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ก็ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความรู้ ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและการตลาด มีประสบการณ์ที่จะเข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรม จึงควรสนับสนุนต่อยอดให้เป็นหัวขบวนในการสร้างธุรกิจชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานราก จึงถือเป็นบทบาทสำคัญที่ ธ.ก.ส. จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน
ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. พบว่า มีคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ มีพลังกาย พลังใจและความรักที่มีต่อถิ่นฐานบ้านเกิด พวกเขาเหล่านี้กำลังสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนของตนเองทีละน้อยโดยไม่ย่อท้อ สิ่งที่พวกเขาทำล้วนเป็นแรงบันดาลใจที่ดี ให้กับคนอีกหลายคนที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติในขณะนี้ ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ร่วมจุดประกาย ในการค้นหาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ผ่าน “โครงการ New Gen Hug บ้านเกิด” และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างสรรค์ให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลัก BCG Economy Model ทั้งทางด้านเกษตรกรรมยั่งยืน (เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่) เกษตรเทคโนโลยี (เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอุตสาหกรรม เกษตรไฮเทค) เกษตรแปรรูป (การแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต และบริการทางการเกษตร) และเกษตรท่องเที่ยวชุมชน
ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน มาเติมเต็มองค์ความรู้และด้านการตลาดและเติมทุนเพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ ผ่านโครงการสินเชื่อนวัตกรรมดีมีทุน สานฝันสร้างอาชีพ และสินเชื่อเพื่อการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขที่ผ่อนปรน เพื่อสร้างโอกาสให้คนหนุ่มสาวในการเข้ามาร่วมพัฒนาภาคเกษตรกรรม ทดแทนคนรุ่นพ่อแม่ที่มีอายุสูงขึ้นและถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการเกษตรของไทยสู่เวทีการค้าโลก ทั้งนี้ ในส่วนของคุณมนูญ ทนะวัง ผู้ชนะเลิศจากการประกวดโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด ถือเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาบ้านเกิด จนนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีความแตกต่างและโดดเด่น ที่เชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน ทำให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีงานทำ สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับชุมชน
ด้านนายมนูญ ทนะวัง เจ้าของ Cocoa Valley อ.ปัว จ.น่าน กล่าวว่า หลังเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ สาขาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา และทำงานบริษัทแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเป็นบริษัทของอเมริกาที่ชลบุรีประมาณ 16 ปี เริ่มรู้สึกว่าความสุขในชีวิตไม่ใช่การมีเงินเยอะ ๆ อีกต่อไป จึงพาครอบครัวกลับบ้านเกิดที่ จ.น่าน เพื่อค้นหาสิ่งที่ตอบโจทย์ความสุขที่แท้จริง และได้เริ่มพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่พ่อแม่มอบให้ มาเป็นสวนโกโก้ที่ปลูกแบบอินทรีย์ และมีการแปรรูปด้วยตนเอง เพื่อให้เป็นช็อกโกแลตแท้ฝีมือคนไทย และพัฒนาไปเป็นเมนูขนมและเครื่องดื่ม เช่น ช็อกโกแลต โกโก้แบบผง ชงดื่ม ขนมที่มีโกโก้เป็นส่วนประกอบ น้ำโกโก้สด รวมถึงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากไขมันโกโก้ เช่น ครีมบำรุงผิว สครับผิวจากโกโก้ รวมไปถึงนำเปลือกโกโก้ไปทำสีย้อมผ้า
ล่าสุดผลิตภัณฑ์ช็อกโกแล็ตขมิ้นชันได้รับรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) สาขา Food Industry และสครับโกโก้ เม็ดบีทธรรมชาติ ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) สาขา health/medical ในงานประชุมวิชาการและการประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมระดับโลก 15 TH International of Inventions and Innovations Intarg 2022 จาก Internation Federation of Inventors Association : IFIA และ World Invention Intellectual Property Association : WIIPA ณ ประเทศโปแลนด์ นอกจากนี้ ได้มีการเชื่อมโยงธุรกิจไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการเปิดคาเฟ่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาชิมผลผลิตจากสวนโกโก้ การทำ รีสอร์ทเพื่อเป็นที่พักรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งวิธีทำงานและการพัฒนาของมนูญจะตั้งโจทย์ว่า ใครได้ประโยชน์บ้างนอกจากตัวเรา ทำให้งานทุกอย่าง ๆ ที่ทำช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมคู่ขนานไปด้วย
มนูญเน้นการสร้างความสุขและการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยการเชิญชวนผู้สูงอายุที่ไม่มีงานทำ มาร่วมคัดแยกเปลือกและเนื้อโกโก้แทนการใช้เครื่องจักร เพื่อให้คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนมีกิจกรรมและมีรายได้เลี้ยงชีพโดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน สร้างความสุขให้ผู้สูงอายุที่มองเห็นคุณค่าในตัวเอง รวมถึงการปลูกโกโก้เป็นพืชแซมในสวนและส่งขายให้กับคาเฟ่ เพื่อเป็นรายได้เสริม เป็นต้น ทั้งนี้ หมุดหมายที่จะก้าวต่อไป คือสร้างพื้นที่ป่าจังหวัดน่านให้กลับมาเขียวขจี เพื่อลดปัญหาโลกร้อนและการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตหากไม่มีป่า เพราะสิ่งนี้คือ ประโยชน์และความสุขที่ทุกคนจะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม และนี่คือคำตอบของ New Gen Hug บ้านเกิดที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ Better Life , Better Community , Better Pride