แก๊งคอลเซ็นเตอร์ตุ๋นคนไทยสูญเงิน 2.4 พันล้านบาท
สภาพัฒน์ ชี้ คนไทยตกเป็นเหยื่อยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอื่นๆ รวมกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 270% และยังส่งข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้น 57% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,400 ล้านบาท
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ออกรายงานพิเศษ เรื่อง “สภาพปัญหาการหลอกลวงยุคดิจิทัลและแนวทางแก้ไข” โดยเนื้อหาดังนี้ การหลอกลวงผ่านเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน และสร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกหลอกคิดเป็นมูลค่าที่สูง ในปี 2564 ประเทศไทยมีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 270% และมีข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้น 57%
สำหรับข้อมูลการแจ้งความและเรื่องร้องเรียน พบว่า ปี 2564 มีผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าแจ้งความกว่า 1,600 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่มีการร้องเรียนปัญหาออน ไลน์ 48,513 ครั้ง เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อนหน้า
ดังนั้น สศช. จึงได้ทำการศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารสมัยใหม่ ระหว่างเดือนม.ค.ถึงมี.ค.2565 ในประชากรช่วงอายุ 17-77 ปี จำนวน 5,798 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ โดยพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.คนไทยเกือบครึ่งมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงในช่วง 1 ปี และประมาณ 2 ใน 5 ตกเป็นเหยื่อ โดยกลุ่มตัวอย่าง 48.1% มีประสบการณ์โดนหลอกลวง ในจำนวนนี้ 42.6% ตกเป็นเหยื่อที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวง คิดเป็น มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยประมาณ 2,400 บาทต่อคน
2.Gen Y และ Gen Z ถูกหลอกลวงสูงกว่า Gen X และ Baby Boomer จากการใช้เวลาและกิจกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่ากลุ่มอื่น อย่างไรก็ตามกลุ่ม Baby Boomer มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อครั้งสูงที่สุด
3.การหลอกลวงโดยอ้างจะให้ผลประโยชน์มีสัดส่วนมากที่สุด โดยรูปการหลอกลวงที่พบมาก คือ อีเมล์/SMS หลอกลวง (Phishing) ขณะที่ประเภทการหลอกลวงที่มีอัตราการตกเป็นเหยื่อสูงสุด คือ หลอกขายสินค้าออนไลน์ ซื้อแล้วไม่ได้รับของ โดยมีอัตราการตกเป็นเหยื่อสูงถึง 82.6% แต่มูลค่าการเสียหายไม่มากคือ เฉลี่ยประมาณ 600-700 บาทต่อคน ขณะที่ การหลอกลวงข้อมูลส่วนตัวทางอีเมล์/SMS หลอกลวง (Phishing) การถูกแฮกข้อมูลหรือหลอกขอข้อมูลบัตรเครดิต และการหลอกลวงให้ลงทุน ที่มีอัตราตกเป็นเหยื่อไม่สูง แต่มีมูลค่าความเสียหายค่อนข้างสูง
และ 4.ผู้ตกเป็นเหยื่อมากกว่าครึ่ง ไม่มีการดำเนินการใด ๆ และเห็นว่าการป้องกัน/จัดการปัญหาของภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยกลุ่มตัวอย่าง 54.1% ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ ด้วยเหตุผลว่ายังไม่เกิดความเสียหาย มีความยุ่งยาก/ไม่มีเวลา คิดว่าแจ้งแล้วก็ไม่ช่วยอะไร และมูลค่าการสูญเสียไม่มากนัก นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ช่องทางการแจ้งเหตุที่เหมาะสม
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการถูกหลอกและการเอาตัวรอด พบว่า 1.พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่และบุคลิกภาพส่วนบุคคล เป็นปัจจัยสำคัญที่เปิดโอกาสให้ตกเป็นเหยื่อ 2.การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการหลอกลวง ทำให้โอกาสการตกเป็นเหยื่อลดลงได้ อย่างไรก็ตาม มีบางรูปแบบที่การรับรู้ข่าวสารอาจไม่มีผล ได้แก่ การหลอกลวงมัลแวร์ การถูกแฮ็กบัญชีธนาคาร/โซเชียลมีเดีย การหลอกขอข้อมูลบัตรเครดิต/เดบิต และ 3.เทคโนโลยีและทักษะ/กลยุทธของมิจฉาชีพเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการตกเป็นเหยื่อ เช่น แอปพลิเคชันกู้เงิน สมัครงาน ขณะที่ทักษะ/กลยุทธ์หลอกลวง เช่น การสื่อสารและโน้มน้าวใจ การสร้างความน่าเชื่อ การคัดเลือกเหยื่อ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในการรับมือกับปัญหาคือ การหลอกลวงมีการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ตลอดเวลา มีความซับซ้อนและความแนบเนียบมากขึ้น จึงยากต่อการรู้เท่าทันและข้อมูลเกี่ยวกับการหลอกลวงมีความกระจัดกระจาย การรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลยังไม่เป็นระบบ ซึ่งทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ยากและไม่เห็นภาพรวมของปัญหา รวมทั้งการจัดการปัญหาการหลอกลวงของหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยขาดการทำงานเชิงรุกทั้งในแง่การป้องกัน การสร้างการเรียนรู้ให้สังคมรู้เท่าทัน และการพัฒนาการสืบสวนให้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ การหลอกลวงในหลายกรณีมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม/อาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้ไม่สามารถขยายผลไปถึงผู้บงการได้
สำหรับข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา คือ
1.สร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลโดยรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เกี่ยวกับรูปแบบการหลอกลวงต่าง ๆ เพื่อให้รู้เท่าทัน รวมทั้งรณรงค์ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล แจ้งเบาะแส ไม่ว่าจะเกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม เพื่อเป็นข้อมูลให้การป้องปรามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2.สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อการสื่อสารในการช่วยหยุดหรือควบคุมปัญหาการหลอกลวงก่อนที่จะกระจายสู่สังคมในวงกว้าง เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มการค้ามีเงื่อนไขการสมัครสมาชิกที่รัดกุม/เข้มงวด การให้อำนาจผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สามารถระงับสัญญาณเลขหมายที่ต้องสงสัยได้
3.พิจารณาตั้งหน่วยงานเฉพาะที่มีหน้าที่กำกับดูแล ป้องกันและป้องปรามการหลอกลวงผ่านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารสมัยใหม่ โดยให้เป็นศูนย์ข้อมูลกลางข่าวสาร การประสานงาน การพัฒนาเครื่องมือในการป้องกัน และการตรวจการกระทำผิดร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
และ 4.สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติทางไซเบอร์ โดยการประสานข้อมูล ข่าวสาร และการอำนวยความสะดวกในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง