สศช. เผยไตรมาสแรกปีนี้คนไทยว่างงาน 1.53%
สภาพัฒน์ เผยสถานการณ์แรงงานไตรมาสแรกปี2565 มีแนวโน้มดีขึ้น การจ้างงานที่ขยายตัวได้ดีทั้งในและนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 3% รวมถึงชั่วโมงการทำงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานต่ำสุดมีจำนวน 610,000 คน หรือ1.53% ต่ำที่สุดในช่วงของโควิด-19
นายดนุชา พิชยนันท์. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาสหนึ่งปี 2565 ภาพรวมการจ้างงานมีทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรม มี 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากการเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มพืชสำคัญ ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6% จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงสุดในช่วงโควิด-19 และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับสาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ 5.8% และ 16.2% ตามลำดับ
ขณะที่ สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร มีการจ้างงานลดลงที่ 1.1% โดยการลดลงของจ้างงานสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มาก โดยมีเพียง 500,000 คน จากปกติที่มี 9 – 10 ล้านคน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาพรวมและภาคเอกชนที่ 40.8 และ 43.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้เสมือนว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่งปี 2565 มีจำนวนถึง 3.8 ล้านคน ขณะที่ผู้ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป หรือกลุ่มทำงานล่วงเวลามีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าช่วงปกติ โดยมีจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา 5.7 ล้านคนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 จากช่วงปกติประมาณ 6-7 ล้านคน
การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 610,000 คน ลดลงจาก 760,000 คน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 630,000 คนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.53% ต่ำที่สุดในช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มี 305,765 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ 2.7% อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ
1.ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 260,000 คน เพิ่มสูงขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลง 2.ผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนถึง 170,000 คน และ 3.การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 3.10%
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปคือ 1.การฟื้นตัวของการจ้างงานภาคท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แต่สัดส่วนรายจ่ายยังไม่สามารถชดเชยการหายไปของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด 2.ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพของแรงงานและการจ้างงาน เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จากราคาน้ำมัน และปัจจัยการผลิตในสินค้าบางชนิดที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน รวมทั้งอาจกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และการจ้างงานสาขาขนส่งจากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และ 3.การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสี่ปี 2564 ขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตาผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว ความเปราะบางของฐานะการเงินของครัวเรือน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกระ ทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ไตรมาสสี่ 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 4.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพี ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ สิน เชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 5% จาก 5.8% ของไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัว 6.5% จาก 7.6% ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่สินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัว 1.2% จาก 0.3% ในไตรมาสก่อน จากมาตรการส่ง เสริมการขายในช่วง Motor Expo สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 1.6% จากการหดตัว 0.5% ในไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อและลิสซิ่ง ที่ขยายตัวมากถึง 21.6%
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 143,000 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อน 4% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสิน เชื่อรวมอยู่ที่ 2.73% โดยคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ แต่ยังต้องเฝ้าระวังเอ็นพีแอลในสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวม สูงถึง 11.08% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 130,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก 1.ครัวเรือนมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น จากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมาอย่างยาวนาน ทำให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ 2.รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ และผู้เสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก และ 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้