สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 พ.ค. 65
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (125) จ.ชุมพร (103) และ จ.ลำปาง (103)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,709 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,811 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย จำนวน 4 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) ภาคตะวันตก (1 แห่ง)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 3 จ. (เชียงราย พะเยา และลำปาง) จำนวน 21 อ. 58 ต. 278 ม.
กอนช. ติตตามหน่วยงานดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
จากเนื่องจากมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยตอนบนส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมาสมทบกับบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
คาดว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 600 – 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกประมาณ 0.50 – 0.75 เมตร
กรมชลประทาน จะควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากปริมาณน้ำหลากตอนบนลดลง จะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ
ทั้งนี้ขอให้ ขอให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
1. ประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัย
ตามหนังสือสำนักงานชลประทานที่ 12 ที่ กษ 0321/450/2565 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ได้แจ้งเตือนจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ให้เตรียมความพร้อมเนื่องจากมีการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำห้วยบวกหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตากพบว่าปริมาณน้ำฝนในอ่างเก็บน้ำยังมีปริมาณที่น้อยและยังสามารถรองรับน้ำได้ หากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องอีกจะตรวจติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ วันที่ 22 – 24 พ.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศลาวตอนบน ส่วนในช่วงวันที่ 22 – 23 พ.ค. 65 ประกอบกับมีแนวร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
4. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดเชียงราย เกิดฝนตกหนักน้ําป่าไหลหลากในพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเวียงชัย อำเภอขุนตาล และอำเภอแม่จัน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 200 ครัวเรือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
จังหวัดพะเยา เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอแม่ใจ อำเภอจุน อำเภอภูกามยาว อำเภอดอกคำใต้ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 54 ครัวเรือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัดพะเยา ได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
จังหวัดลำปาง เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมืองปาน อำเภอเมืองฯ อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ อำเภอห้างฉัตร และอำเภอเกาะคา มีประชาชนได้รับผลกระทบ 881 ครัวเรือน โดยกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว