สภาพัฒน์ฯ ปรับจีดีพีไทยลง 1% เหลือโตแค่ 3%
สศช.ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ ลงเหลือ 3% จากเดิมก่อนหน้านี้ เดือนก.พ.คาดเติบโต 4% ผลพวงจากวิกฤติโควิดและสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบขาดแคลน “ดนุชา” แนะประชาชน-ผู้ประกอบการ ปรับตัวให้ทันกับเปลี่ยนแปลง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์เดิม เมื่อเดือนก.พ. ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวช่วงระหว่าง 3.5-4.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 4% แต่ล่าสุด เดือนมิ.ย.นี้ สศช.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทย จะขยายตัว 3% โดยมีช่วงอยู่ระหว่าง 2.5-3.5% สอดคล้องกับเศรษฐกิจต่างประเทศที่ปรับลดลง ทั้งสหรัฐ ยุโรปและจีน ขณะที่ ปัจจัยบวกที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือ การบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยวและการส่งออก โดยคาดว่า ปีนี้การส่งออกจะขยายตัว 7.3% อัตราเงินเฟ้อ 4.2-5.2%
“หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายด้านการท่องเที่ยว สศช.ประมาณว่า ในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 7 ล้านคน ขณะที่ ไตรมาสแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยแล้ว 500,000 คน ซึ่งเท่ากับปีที่แล้ว ตลอดทั้งปี”
นายดนุชา กล่าวว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบปีที่แล้ว แต่เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนอกจากจะทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้นแล้ว ยังมีผลต่อราคาปุ๋ย และวัตถุดิบอื่นๆ เช่น อินโดนิเซีย สั่งห้ามส่งออกปาล์มน้ำมันแล้ว ขณะที่ จีนเริ่มสต๊อกอาหารมากถึงปีครึ่ง รวมรัสเซียประกาศไม่ส่งออกข้าวสาลี สิ่งที่เหล่านี้ บ่งบอกว่า ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น จึงเป็นที่สำคัญที่ประเทศไทยต้องระวังในอนาคต
“ปัจจัยสำหรับที่ทำให้ สศช.ปรับลดจีดีพีปี65 คือ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว จากปัญหาราคาพลังงานสูง อัตราเงินเฟ้อสูง จึงแนะนำว่า ในช่วงถัดไปไทยต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น หลังจากหลายประเทศเริ่มเป็นห่วงเศรษฐกิจของตนเอง จึงงดส่งออกวัตถุดิบ ทำให้หลายประเทศต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ขณะที่ไทยเป็นประเทศผลิตอาหาร จึงต้องบริหารจัดการเรื่องวัตถุดิบหลัก เช่น การใช้ชิพในอุตสาหกรรมยายนต์ เป็นต้น”
สำหรับจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัว 2.2% จากไตรมาส 4 ขยายตัว 1.1% โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.9% การลงทุนรวมขยายตัว 0.8% จากไตรมาส4 ชะลอตัว -0.2% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 4.6% ต้องเร่งรัดโครงการลงทุนให้มากขึ้น มูลค่าการส่งออกขยายตัว 14.6% จากไตรมาส 4 ขยายตัว 21.3 เป็นต้น
ส่วนการใช้นโยบายการคลังฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการออกมาตรการต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส5 นั้น นายดนุชา กล่าวว่า ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องคิดในรอบคอบ การกู้เพิ่มต้องพิจารณาถึงฐานะการคลัง ควรกู้ได้หรือไม่ และจำนวนเท่าใด กู้มาแล้วจะใช้ทำอะไรไปต้องดูร่วมกันให้ดี ส่วนเงินกู้ จำนวน 500,000 ล้านบาท ต้องใช้ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ตาม ที่ พ.ร.ก.กำหนด ล่าสุดยังมีเงินเหลือที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้อีก 74,000 ล้านบาท แต่มีภาระต้องใช้ในโครงการฟื้นเศรษฐกิจฐานราก 10,000 ล้านบาท และงบที่ต้องใช้รักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 อีก 10,000 ล้านบาท ยังมีเงินเหลืออยู่อีก 48,000 ล้านบาทเท่านั้น”