สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 พ.ค. 65
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2565 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 10 – 17 พฤษภาคม 2565 บริเวณภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
1.2 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2565 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 11 – 19 พฤษภาคม 2565 บริเวณสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และสถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
2.1 กรุงเทพมหานคร ได้ติดตามโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ได้แก่ (1) งานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองรางอ้อรางแก้ว (2) โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำคลองหลุมไผ่ (3) บ่อสูบน้ำ ถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้าและขาออก ตอนลงคลองบางบัว ด้านทิศเหนือและทิศใต้ (4) ระบบ Pipe jacking และบ่อสูบน้ำ ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ (5) บ่อสูบน้ำถนนเสนานิคม 1 (6) สถานีสูบน้ำคลองห้วยขวาง
2.2 กองทัพไทย จัดกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ รวมทั้งชะลอความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ลดการพังทลายของหน้าดิน และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ วันที่ 14 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15 – 19 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับ ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค. 65 ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 15,979 ล้าน ลบ.ม. (34%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 14,735 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,621 ล้าน ลบ.ม. (11%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีอ่างเก็บน้ำที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 4 แห่ง (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 3,179 ล้าน ลบ.ม. (17%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 458 ล้าน ลบ.ม. (11%)