สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.จันทบุรี (129 มม.) จ.หนองคาย (116 มม.) และ จ.เชียงราย (108 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,694 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,883 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) ภาคตะวันออก (1 แห่ง)
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 65 เป็นต้นไป เนื่องจากมีฝนตกชุกและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย (ประมาณร้อยละ 3) แต่จะน้อยกว่าปี 2564 (ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปี 2564 มากกว่าค่าปกติร้อยละ 8)
โดยในช่วงตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. – กลางเดือน ก.ค. จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน และในช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย. เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำลันตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค. ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกต่อไปถึงกลางเดือน ม.ค.
ทั้งนี้ กอนช. ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฝนฤดูฝน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการต่อไป