ชี้ผลประชุม AFCDM+3 ได้ 4 แนวทางเศรษฐกิจ
หัวหน้าผู้แทนกระทรวงการคลังของไทย เผยผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (AFCDM+3) ระหว่างวันที่ 2 – 3 เม.ย.ที่ผ่านมาร ณ จ.เชียงราย ชี้ได้บทสรุป 4 ประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวง การคลังทำหน้าที่ประธานร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : AFCDM+3) เมื่อวันที่ 2-3 เม.ย.62 ณ โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี บาย กะตะธานี จ.เชียงราย โดยที่ประชุม AFCDM+3 ได้หารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียน+3 ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค : ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเศรษฐกิจจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) โดยเห็นพ้องว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2562
ยังคงสามารถขยายตัวได้แม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัว รวมทั้งความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน
ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศประเมินว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจจีนอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง (Spillover) มายังเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นถึงปัจจัยบวกของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ขยายตัวมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาที่สามารถช่วยรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกได้ สำหรับข้อเสนอแนะทางเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ควรเตรียมความพร้อมรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนในปีนี้
2.การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจากการที่ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างความตกลงสุดท้าย (Final Text) ของการทบทวนความตกลง CMIM เมื่อเดือน ธ.ค.61 ที่ปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี และเตรียมเสนอร่างความตกลงดังกล่าวให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคม
โดยในครั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือและรับทราบความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การปรับปรุงเอกสารแนวปฏิบัติ (Operational Guideline : OG) ซึ่งเป็นการปรับปรุงรายละเอียดการดำเนินการเชิงเทคนิคให้สอดคล้องกับการทบทวนความตกลง CMIM การจัดทำกรอบเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือ Conditionality Framework และการกำหนดแนวทางการดำเนินการสำหรับ CMIM ในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการทดสอบกลไกการทำงานของ CMIM (CMIM Test Run) ครั้งที่ 10 ซึ่งจะมีการทดลองเบิกจ่ายและเบิกถอนจริง (Actual Disbursement and Drawdown) โดยจะทดสอบในช่วงครึ่งหลังของปี 2562
3. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ AMRO ในฐานะคณะกรรมการบริหารของ AMRO ที่ประชุม AFCDM+3 ได้เห็นชอบข้อเสนองบประมาณสำหรับการดำเนินการรวมทั้งแผนงานด้านต่างๆ ของ AMRO สำหรับปี 2563 นอกจากนี้ ได้มีมติแต่งตั้งผู้อำนวยการคนใหม่ คือ นาย Toshinori Doi ผู้สมัครจากประเทศญี่ปุ่น มาแทนผู้อำนวยการคนปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ และอนุมัติต่ออายุสัญญาของ นาย Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงการหารือถึงกระบวนการคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงของ AMRO ในตำแหน่งอื่น ๆ คือ รองผู้อำนวยการ ที่จะหมดวาระลงในปี 2562 นี้ด้วย
4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนงานระยะกลางของ ABMI (ปี 2562 – 2565) ที่ได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 แนวทาง ได้แก่ (1) การดำเนินการโดยต่อเนื่อง (Continue) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 (2) การดำเนินการเชิงลึก (Deepen) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Markets Development) และการพัฒนาการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (3) การดำเนินการเชิงขยาย (Expand) เพื่อขยายขอบเขต ABMI ให้ครอบคลุมประเด็นใหม่ ๆ ในตลาดการเงิน และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินการหรือมาตรการต่างๆ ภายใต้กรอบ AFMGM+3 อย่างครอบคลุมมากขึ้น.