สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 เม.ย. 65
ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.จันทบุรี (71 มม.) จ.อุบลราชธานี (53 มม.) และ จ.เพชรบูรณ์ (49 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 23,585 ล้าน ลบ.ม. (41%) ขนาดใหญ่ 18,147 ล้าน ลบ.ม. (38%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง (เขื่อนภูมิพล และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia-Pacific Water Summit: APWS) ภายใต้หัวข้อหลักการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน – แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการพัฒนาเพื่อชนรุ่นหลัง (Water for Sustainable Development-Best Practices for the Next Generation)
นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการในทุกมิติ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาอย่างเท่าเทียมที่ไม่สร้างภาระให้กับชนรุ่นหลัง สนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ ภายในปี ค.ศ. 2030 และการบูรณาการโครงสร้างสีเขียวในโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัว เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ โดยสนันสนุนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกขับเคลื่อนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับนโยบายเพื่อการบริหารจัดการที่มั่นคงและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งภาระให้กับชนรุ่นหลัง.
กอนช. ติดตามการเตรียมส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตามมาตรการรับมือฤดูฝน
กรมชลประทาน เตรียมพร้อมส่งน้ำให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก เพาะปลูกข้าวนาปี หวังให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวก่อนฤดูน้ำหลาก โดยเร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าติดตั้ง บริเวณปากคลองส่งน้ำ 6 ขวา ต.หนองหม้อ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เพื่อสูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าสู่คลองส่งน้ำ 6 ขวา สำหรับให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงราก (อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และอ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี) ได้เริ่มเพาะปลูกตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง เป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ เร่งกำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินในคลอง 6 ขวา เพื่อให้การลำเลียงน้ำมายังพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงราก เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกตามแผนที่กำหนดไว้ได้อย่างทั่วถึง