‘ณรงค์ศักดิ์’ แนะเชื่อมความสัมพันธ์เพิ่มการค้าไทย-จีน
หอการค้าไทย-จีน เสนอ 2 ความเห็นเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างไทยกับจีน ให้มีความคึกคักมากขึ้น แม้จีนจะปิดประเทศเพราะพิษโควิดก็ตาม แต่ยอดการค้าระหว่างกันไม่ได้ชะลอตัว โดย 2 เดือนแรกของปีนี้ ค้าขายทะลุ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศจีนไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ตาม แต่สถานการณ์การค้าระหว่างไทยและจีน ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และประเทศจีน ยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 9 ปี ติดต่อกัน โดยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) การค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวสูงถึง 16% คิดเป็นมูลค่ากว่า 17,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีสัดส่วน 18% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย
โดยยอดการส่งออกของไทยไปยังจีน ขยายตัว 4.78% และไทยนำเข้าจากจีน ขยายตัว 21.73% ส่งผลไทยเสียดุลการค้า 6,815 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แต่ในอนาคต ไทยยังสามารถทำธุรกิจและค้าขายกับจีนได้อีกมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้การค้าขายของโลกหยุดชะงักร่วมถึงไทยและจีนด้วยนั้น ทำให้ไทยกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ๆ เช่น ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากขัดแย้งดังกล่าว และภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันแพง
“คนไทยกับคนจีน มีความสนิทสนมกันมาก เพราะคนจีนตั้งถิ่นฐานและอพยพมายังประเทศไทยมากที่สุดในอาเซียน เมื่อช่วงที่จีนมีสงครามกลางเมือง ในช่วงที่ผ่านมา จึงมีคนจีนที่อยู่ในไทย ส่งเงินกลับบ้านที่เมืองจีนจำนวนมาก ดังนั้น ในช่วงหลายปีที่แล้ว จึงเห็นนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง”
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า หากประเทศไทยมีการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีน อีก 2 ประเด็นคือ 1.การ ใช้ประโยชน์จาก ความตกลงอาร์เซป ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ในช่วง 2 ดือนแรกของปีนี้ มีรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศของไทยว่า ผู้ประกอบการไทยมีการใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซป ส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ และมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
โดยการส่งออกภายใต้ความตกลงอาร์เซป ในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) กับ ญี่ปุ่นมี 540.36 ล้านบาท จีน 453.95 ล้านบาท และเกาหลีใต้ 171.21 ล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ส่งออกไทยไปจีน ภายใต้ความตกลงอาร์เซป ส่วนใหญ่ได้รับการลดภาษีในระดับที่เท่ากับกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนคือ 0% แต่เนื่องจากความตกลงอาร์เซปมีข้อกำหนดเรื่องการตรวจปล่อยสินค้าที่ชัดเจนคือ กรณีที่เป็นสินค้าเน่าเสียง่าย จะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากร ภายใน 6 ชั่วโมง และสำหรับสินค้าทั่วไปให้การตรวจปล่อยภายใน 48 ชั่วโมง
ประเด็นนี้ น่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยมาขอให้สิทธิภายใต้อาร์เซปกันมากขึ้น เนื่องจากสามารถวางแผนการนำเข้าส่งอออกสินค้าล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้า ผลไม้สด เช่น ทุเรียนสด ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ลางสาด มะพร้าวทั้งกะลา ตลอดจน มันสำปะหลัง และ รถยนต์และยานยนต์ขนส่งบุคคล เป็นต้น
และ2. การเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว-ไทย เป็นโอกาสที่สำคัญ ในการส่งเสริมกระจายสินค้าไทยเข้าไปยังประเทศจีนอีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่มณฑลตอนในของจีน ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพด้านบริการโลจิสติกส์ของประเทศไทยและจีนในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ อยากประชาสัมพันธ์เรื่อง “หอการค้าไทย-จีน” รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก หรือ WCEC สมัยที่ 16 ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ค.2566 ที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่า มีผู้ประกอบการชาวจีนจากทั่วโลก กว่า 3,000 คน เข้าร่วมประชุม และสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดประชุม WCEC สมัยที่16 ในปีหน้านี้ จะช่วยสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังจากการระบาดของโควิด-19 โดยในรอบปีนี้ หอการค้าไทย-จีน ได้รับเป็นเจ้าภาพสมัยที่ 2 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญขึ้นอีกมากในเวทีการค้าของชาวจีน.