สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 เม.ย. 65
ภาคเหนือฝนตกหนักในบางแห่ง ทางด้านตะวันตกของภาคกลางและภาคใต้ตอนบน มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมาก บริเวณ จ.เลย (151 มม.) จ.ตาก (123 มม.) และ จ.พะเยา (121 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 24,309 ล้าน ลบ.ม. (42%) ขนาดใหญ่ 18,721 ล้าน ลบ.ม. (39%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง (เขื่อนภูมิพล และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
สทนช. ประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/66 ให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตามแนวทาง 13 มาตรการรับมือฤดูฝน
เพื่อให้การดำเนินการ 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 65 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรับมือได้ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมความพร้อมในการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนงานโครงการเร่งด่วน ซึ่งโครงการ
ที่หน่วยงานเสนอจะต้องมีพื้นที่เป้าหมายที่ชัดเจน มีความพร้อมดำเนินการได้ทันที และสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากได้รับการจัดสรรงบประมาณ ที่สำคัญจะต้องเป็นโครงการที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ โดย สทนช. ได้กลั่นกรองและจัดกลุ่มแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับการดำเนินการของแต่ละกิจกรรม
เมื่อหน่วยงานได้ทำการวิเคราะห์ ตรวจสอบ ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และความพร้อมดำเนินการโครงการให้สอดคล้องตามมาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 65 แล้ว จะต้องจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการ โดยบันทึกผ่านระบบบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือระบบ Thai Water Plan (TWP) เพื่อให้คณะอนุกรรมการ ทรัพยากรน้ำจังหวัด พิจารณารวบรวม กลั่นกรอง ประสานตรวจสอบสถานภาพความพร้อมดำเนินการ ความซ้ำซ้อน และความสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนตามความจำเป็น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเชิงพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ สทนช. จะกํากับ ติดตามผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องตามมาตรการ และรายงานให้กนช. และ ครม. รับทราบต่อไป