ทิศทางขาขึ้นของค่าไฟหนุนตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจ…เติบโตกว่า 54% ในปี 65
ท่ามกลางทิศทางขาขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับแรงกดดันจากราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลในตลาดโลกที่มีแนวโน้มยืนตัวในระดับสูงโดยเฉพาะจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลช่วยยกระดับความน่าสนใจในการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปในภาคธุรกิจเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าพร้อมทั้งตอบสนองกระแสพลังงานสะอาด แม้ว่าในปัจจุบันราคาแผงโซลาร์กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัญหาด้านอุปทานวัตถุดิบในตลาดโลก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีส่วนหนุนให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 2565 ขยายตัวสู่ระดับ 125.9 เมกะวัตต์ หรือเติบโตราวร้อยละ 54.2 จากปีก่อน ในขณะที่ความคุ้มค่าของการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปของผู้ประกอบการภาคธุรกิจจะยังคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละผู้ประกอบการ
“พลังงานไฟฟ้า” นับได้ว่าเป็นต้นทุนสำคัญประการหนึ่งของการประกอบธุรกิจทั้งภาคการผลิตและบริการ โดยคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยโดยรวมราวร้อยละ 4.0 ของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันมาจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราวร้อยละ 64 และเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นอย่างน้ำมันและถ่านหินรวมกว่าร้อยละ 20 ภายใต้โครงสร้างเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าของไทยดังกล่าว อัตราค่าไฟฟ้าของไทยกำลังมีทิศทางขาขึ้น จากแรงกดดันของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลในตลาดโลกที่มีแนวโน้มยืนตัวในระดับสูงจากผลกระทบวิกฤตรัสเซีย–ยูเครน และกำลังการผลิต LNG ในอ่าวไทยที่ลดลงราวครึ่งหนึ่งจากช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน ภาวะดังกล่าวมีส่วนเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อปเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นทางเลือกที่อยู่ในกระแสความสนใจของภาคธุรกิจไทยมาระยะหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะมีแนวโน้มการลงทุนที่สะดุดตัวลงบ้างในปีที่ผ่านมาจากภาวะราคาแผงโซลาร์ที่พุ่งสูงขึ้นจากปัญหาอุปทานวัตถุดิบ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ในช่วงก่อนโควิด-19 ความคุ้มค่าในการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องท่ามกลางแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าไฟเฉลี่ยของภาคธุรกิจในช่วงก่อนโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และต้นทุนการผลิตไฟของประเทศที่สูงขึ้น สวนทางกับต้นทุนการผลิตไฟโดยโซลาร์รูฟท็อปที่มีแนวโน้มลดลงตามการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยนับตั้งแต่ปี 2562 ส่วนต่างซึ่งเป็นค่าไฟที่ประหยัดได้โดยเฉลี่ยในภาคธุรกิจที่ลงทุนใช้งานโซลาร์รูฟท็อปอยู่ในระดับที่มากกว่า 1.36 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 ส่งผลให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายกลางและใหญ่เริ่มหันมาสนใจลงทุนในโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้งานเองภายในธุรกิจมากขึ้น แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะไม่มีมาตรการใหม่จากทางภาครัฐในการรับซื้อไฟจากโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปก็สะดุดตัวลงบ้างในปีที่ผ่านมาจากผลกระทบโควิด-19 ต่อภาวะธุรกิจ และอัตราค่าไฟของภาครัฐที่ลดลง ขณะที่ราคาแผงโซลาร์กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2564 จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อการนำเข้าหรือใช้โพลีซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในแผงโซลาร์ที่มาจากมณฑลซินเจียงของจีน ยิ่งไปกว่านั้น ต้นทุนแผงโซลาร์ก็ยังได้รับแรงกดดันจากราคาทองแดงและอะลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ภายใต้ภาวะดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกลับมามีทิศทางขาขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วอีกครั้ง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ต้นทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในปี 2565 น่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 22.9 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือราวร้อยละ 7.0 จากปีก่อน
แม้ต้นทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในปี 2565 ยังมีทิศทางขาขึ้น แต่แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟในปีนี้น่าจะมีส่วนยกระดับความน่าสนใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น การทยอยเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟของภาครัฐตั้งแต่ช่วงต้นปีและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า น่าจะมีส่วนหนุนให้ค่าไฟเฉลี่ยของภาคธุรกิจในปี 2565 เพิ่มขึ้นแตะ 4 บาทต่อหน่วย หรือเร่งตัวสูงขึ้นราวร้อยละ 10.5 จากปีก่อน ทำให้ระดับความน่าสนใจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มสูงขึ้นจากค่าไฟที่จะประหยัดได้มากขึ้น แม้ว่าต้นทุนการติดตั้งจะยังคงมีทิศทางขาขึ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่ การลงทุนโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปีนี้น่าจะยังคงเป็นไปเพื่อใช้งานภายในธุรกิจเป็นหลัก แม้ว่าหน่วยงานรัฐกำลังพิจารณาเปิดรับซื้อไฟส่วนเกินจากผู้ประกอบการธุรกิจที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการลดผลกระทบของต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของภาครัฐที่ยืนตัวในระดับสูง จึงทำให้เงื่อนไขรับซื้อซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาเป็นไปในลักษณะจำกัดทั้งราคา ขนาด และระยะเวลาในการรับซื้อ
จากตัวเลขการยื่นขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 82.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขึ้นสู่ระดับ 31.8 เมกะวัตต์ ประกอบกับยอด Backlog บางส่วนที่อยู่ระหว่างรอการติดตั้ง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2565 ตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจน่าจะขยายตัวสู่ระดับ 125.9 เมกะวัตต์ หรือเติบโตราวร้อยละ 54.2 จากปีก่อน ในขณะที่ค่าไฟที่น่าจะประหยัดได้โดยเฉลี่ยของภาคธุรกิจหากลงทุนใช้งานโซลาร์รูฟท็อปในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 เนื่องจากค่าไฟเฉลี่ยของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ซึ่งค่าไฟที่ประหยัดได้ดังกล่าวเป็นการประเมินเบื้องต้นจากภาพรวมของภาคธุรกิจ ในขณะที่ค่าไฟที่จะประหยัดได้จริงของแต่ละผู้ประกอบการจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ ปริมาณการใช้ไฟ เงินลงทุนในการติดตั้ง งบการเงินของกิจการ เป็นต้น
แรงหนุนการเติบโตของตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 2565 คาดว่าจะมาจากกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนการดำเนินธุรกิจจากค่าไฟที่สูง ทั้งธุรกิจในภาคการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์และเหล็ก และธุรกิจในภาคบริการ เช่น โกดังสินค้า โรงแรม ค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ที่เน้นให้ความสำคัญกับการประหยัดต้นทุนและความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะกลางถึงยาว โดยที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจเฉพาะหน้าจำกัด รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนเนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งภาคการผลิตและบริการ
นอกจากนี้ ตลาดโซลาร์รูฟท็อปในปีนี้ยังได้รับแรงหนุนฝั่งอุปทานจากการรุกทำตลาดเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ทั้งจากผู้เล่นเดิมที่อยู่ในธุรกิจพลังงานทางเลือก และกลุ่มผู้เล่นใหม่ที่มาจากธุรกิจพลังงานฟอสซิล โดยผู้ประกอบการโซลาร์รูฟท็อปต่างแข่งขันการนำเสนอโมเดลการลงทุนที่จูงใจผู้ประกอบการภาคธุรกิจในลักษณะที่พยายามลดภาระจากการลงทุนและบำรุงรักษาโซลาร์รูฟท็อปขององค์กรธุรกิจ เช่น โมเดลการผ่อนชำระค่าติดตั้งโดยทยอยหักจากค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่ประหยัดได้จริงในแต่ละเดือนหากใช้โซลาร์รูฟท็อปแทนโครงข่ายไฟฟ้าของภาครัฐ หรือแม้แต่โมเดลในลักษณะที่องค์กรธุรกิจไม่ต้องออกเงินลงทุนติดตั้งและดูแลรักษาระบบเอง แต่ต้องทำสัญญาซื้อไฟในระยะยาวโดยได้รับส่วนลดราวร้อยละ 10 ถึง 30 จากอัตราค่าไฟของภาครัฐ (ขึ้นกับขนาดการติดตั้งและเงื่อนไขอื่นในสัญญา) เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลงทุนโซลาร์รูฟท็อปน่าจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในระยะข้างหน้า จากแรงหนุนที่สำคัญคือ กระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) รวมถึงแรงผลักดันจากนโยบายภาครัฐในหลายประเทศรวมถึงไทยที่ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และน่าจะมีการทยอยออกมาตรการผลักดันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า เช่น มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเริ่มมีการประกาศมาตรการบ้างแล้วในยุโรป ในขณะที่ภาครัฐไทยกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจไทยต้องพิจารณาปรับตัวโดยหันมาลงทุนใช้พลังงานสะอาดซึ่งรวมถึงโซลาร์รูฟท็อปเพื่อตอบสนองกระแส ESG ดังกล่าวมากขึ้น อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วก่อนจะตัดสินใจลงทุน ผู้ประกอบการแต่ละรายยังคงต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าในประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ เพราะสถานการณ์แวดล้อมและกฎระเบียบทางการอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไปข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยก็จะมีแนวโน้มปรับมาเป็นทิศทางขาขึ้นด้วย