ก.อุตฯ ลุยหนุนอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันอาหาร เผยผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงจากผลผลิตประมงเพาะเลี้ยงฯ ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปอาหาร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน พร้อมต่อยอดสู่สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง สร้างโอกาสในการแข่งขัน รุกตลาดออนไลน์และออฟไลน์ นำร่อง 10 จังหวัดภาคกลาง หวังสร้างรายได้และความยั่งยืนในธุรกิจประมง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร บนพื้นฐานความสมดุลเชิงพื้นที่ในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรทั้งประเภทอาหาร ไม่ใช่อาหาร รวมถึงผลักดันให้อุตสาหกรรมมีความมั่นคง และเกิดความยั่งยืน โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการตลาดในระดับต่างๆ โดยได้มอบหมายให้สถาบันอาหารดำเนินงานโครงการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงจากผลผลิตประมงเพาะเลี้ยงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดเห็นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจประมง ในปีงบประมาณ2565 วงเงิน 3,090,000 ล้านบาท กำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานใน 10 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี และปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2564 พบว่า ผลผลิตประมงน้ำจืดในพื้นที่ภาคกลางสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการดังกล่าวในช่วงไตรมาสแรก มีความก้าวหน้าไปกว่า ร้อยละ 36
มีผู้ประกอบการผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 14 กิจการ อาทิ ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลานิล
ปลากะพง หอยเชลล์ ปลาดุก ปลาสลิด ปลาช่อน ปลากระดี่ เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แนะนำพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์จนได้สูตรและเข้าสู่กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์น้ำ
แปรรูปพร้อมทานออกสู่ตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาช่อน ปลาสลิดแดดเดียว พัฒนาไปเป็นปลาช่อนแม่ลาเค็มน้อย ผลิตภัณฑ์ปลานิลแดดเดียวพัฒนาไปเป็นน้ำพริกปลาย่างแห้ง ผลิตภัณฑ์ปลาเค็มรวนพร้อมทานพัฒนาไปเป็นซุปผักปลาก้อน ผลิตภัณฑ์ปลาหมึกกรอบปรุงรสพัฒนาไปเป็นสแน็คขอบหอยเชลล์ ผลิตภัณฑ์ปลาดุกเส้นทอดพัฒนาไปเป็นปลาดุกหยอง ผลิตภัณฑ์ปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวพัฒนาไปเป็นปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแดดเดียว ปลาสลิดทอดกรอบ น้ำพริกปลาสลิด พัฒนาไปเป็นสแน็คจากก้างปลาสลิด ข้าวเกรียบปลาสลิด และผลิตภัณฑ์ปลาร้า น้ำปลาร้า พัฒนาไปเป็นปลาร้าผงอัดก้อน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
“สิ่งที่เราตั้งเป้าในการดำเนินโครงการคือการพัฒนาผู้ประกอบการแปรรูปอาหารให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบประมงเพาะเลี้ยงให้มีมูลค่าสูง ด้วยการนำนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้
ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคในยุคปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปมูลค่าสูงจากผลผลิตประมงเพาะเลี้ยงที่ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมทั้งเชื่อมโยงสายโซ่คุณค่าให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม กระจายรายได้ไปสู่เกษตรกรและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในพื้นที่และสร้างความยั่งยืนของธุรกิจประมงเพาะเลี้ยง ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาของการดำเนินโครงการฯ คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประชาชนในพื้นที่ดำเนินงานราว 20 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้นำองค์ความรู้และทักษะไปพัฒนาต่อยอดและขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างโอกาสทางการตลาดโดยการเชื่อมโยงกับคู่ค้าออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ในเขตจังหวัดภาคกลางเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต” นางวรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย