ธ.ก.ส.เผยเกษตรกรรายได้สูงขึ้น 1.9%
ธ.ก.ส.เผยผลสำรวจพบหนี้สินครัวเรือนเกษตรครึ่งหลังปี’61 งอกขึ้น 1.3% แต่หากเทียบจีดีพี กลับหดตัวลง 4.13% เผยรายได้ภาคเกษตรสูงขึ้น 1.9% ขณะที่รายจ่ายเพิ่ม 1.1% ขณะที่หนี้นอกระบบลดลงกว่าปีก่อน 18.5% ชี้ยังจับตากลุ่มผู้มีรายได้น้อย “ก่อหนี้ใหม่”
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตรช่วงครึ่งหลังปี (ก.ค.-ธ.ค.) 2561 ว่า มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเกษตรไทยต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 18.12 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 4.13 เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจประจำปี (Nominal GDP) ยังคงสูงกว่าการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนเกษตรกร
โดยประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เป็นผลจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มของรายได้ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเกษตรที่มีรายได้น้อย ที่กู้หนี้เต็มวงเงินแล้วและมีภาระผูกพันกับหนี้หลายสัญญา อาจมีการก่อหนี้นอกระบบที่จะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนเกษตรและการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป
สำหรับผลการสำรวจสถานการณ์ภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตรครึ่งหลัง ปี 2561 โดยเก็บข้อมูลจากเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ 980 ราย พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. มีรายได้รวมเฉลี่ย 295,420 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.9 และมีค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือน 240,680 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.1 ส่งผลให้มีสัดส่วนรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 1.23 เท่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.8
ทั้งยังพบว่าครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 มีการออมเงิน โดยมีสัดส่วนการออมที่ร้อยละ 6.4 ของรายได้ทั้งหมด มีการออมเงินเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการออมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ ธ.ก.ส. อาทิ เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค สลากออมทรัพย์ฯ และกองทุนทวีสุข ขณะเดียวกันเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 135,220 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.3
โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 89.1 เป็นหนี้ในระบบ ส่วนหนี้นอกระบบมีเพียงร้อยละ 10.9 โดยปริมาณหนี้นอกระบบปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.5 ส่วนภาระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (DSR) คิดเป็นร้อยละ 45.77 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.61 แต่ยังคงสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเสถียรภาพของภาคครัวเรือนที่กำหนด ณ ระดับร้อยละ 40 ซึ่งสะท้อนว่า ครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ยังมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Probability) เพิ่มขึ้น
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า รายได้ภาคเกษตรที่เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามภาวะการจ้างงานในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ครัวเรือนเกษตรกรของ ธ.ก.ส. ผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการลดภาระหนี้ ทั้งมาตรการลดภาระหนี้ในระบบของ ธ.ก.ส. อาทิ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ และโครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ (3 ปี)
นอกจากนี้ ยังพบว่ามาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนของ ธ.ก.ส. มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดภาระหนี้ให้กับครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่สูงมาก และการก่อหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า โดยส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อลงทุนสร้างรายได้และซื้อทรัพย์สินเพื่อประกอบอาชีพซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ ประกอบกับครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ให้ความระมัดระวังในการก่อหนี้ใหม่ ส่งผลให้ภาระหนี้สินต่อเดือนของครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า เพิ่มขึ้นไม่มาก จึงทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (DSR) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีการกู้หนี้เต็มวงเงินหลักประกันและครัวเรือนที่มีภาระผูกพันกับหนี้หลายสัญญา ซึ่งอาจมีพฤติกรรมในการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มเติม ประกอบกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรและภัยธรรมชาติ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดัน การขยายตัวของรายได้ภาคการเกษตร และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคต.