สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 มี.ค. 65

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (88 มม.) จ.กระบี่ (72 มม.) และ จ.พะเยา (68 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 27,360 ล้าน ลบ.ม. (47%) ขนาดใหญ่ 21,496 ล้าน ลบ.ม. (45%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
กอนช. ติดตามการดำเนินการตามมาตรการการรับมือฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ได้เลื่อนระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำเร็วขึ้น ส่งน้ำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่โครงการ โดยได้เริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ให้ทุ่งบางระกำ พื้นที่ 265,000 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.65 ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมือง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย รวม 21 ตำบล 97 หมู่บ้าน จากเดิมที่เริ่มในเดือน พ.ค. เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเร็วขึ้นและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร สามารถใช้พื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยม ลดผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ชุมชนเมืองของ จ.สุโขทัย ชะลอการระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์ข้าว และการทำอาชีพประมง การแปรรูปผลผลิตจากปลา ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมในช่วงที่รับน้ำเข้าทุ่ง
โดย กรมชลประทาน จะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ขยายผลสู่พื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างต่อไปด้วย
