กสอ.ดัน “กาแฟออร์แกนิก” บุกตลาดโลก
กสอ. โชว์ศักยภาพ “โครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟ” เน้นสร้างคลัสเตอร์ผู้ผลิตกาแฟทั้งระบบ พร้อมเปิดมาสเตอร์แพลน 4 ด้าน หนุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมวิชาชีพบาริสต้าก้าวสู่ศูนย์กลางผลิตกาแฟออร์แกนนิกไทย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กสอ. ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ได้วางเป้าหมาย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในรูปแบบคลัสเตอร์ในจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมกัน จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป และการจัดจำหน่าย โดยแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
- การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตกาแฟของผู้ปลูกกาแฟ โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น มาสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปลูกยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) หรือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
- การส่งเสริมการแปรรูปกาแฟ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟ เพื่อการลดต้นทุน ลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต รวมถึงวางมาตรฐานการจัดเก็บเมล็ดกาแฟ โรงคั่วกาแฟ และผู้ควบคุมการผลิตในกระบวนการคั่วกาแฟ
- ส่งเสริมผู้จัดจำหน่ายให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจกาแฟ ทั้งในด้าน การพัฒนาตลาด ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟ การสร้างศักยภาพของตลาด และขยายช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งส่งเสริมวิชาชีพบาริสต้า
- การส่งเสริมสร้างให้เกิดการรับรู้ภาพลักษณ์ของเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเมืองกาแฟ
สำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวยังได้นำมาสู่การดำเนินงานร่วมกับกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟ อย่างเช่น บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด (ชาวไทยภูเขา) และเครือข่ายผู้ประกอบการ ในพื้นที่เชียงใหม่ ภายใต้การทำงานของศูนย์การเรียนรู้ที่ได้ดำเนินการร่วมกับ กสอ. โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ในการคัดกรองเกษตรกรและผู้ที่สนใจในธุรกิจกาแฟเข้ามาเรียนรู้การปลูกและกระบวนการแปรรูป ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเพิ่มพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกกาแฟ แบบออร์แกนิก (Organic) ร่วมกับชุมชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก
ทั้งนี้กาแฟออร์แกนิกสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเมล็ดกาแฟทั่วไป ซึ่งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกกาแฟ เนื่องจากที่ผ่านมามีการส่งเสริมปลูกกาแฟที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการดูแลผืนป่า ซึ่งจะนำไปสู่การทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ต่อไปในอนาคต