สมอ.เรียกผู้ค้ากว่า 50 รายคุมสินค้าออนไลน์
สมอ. แถลงผลงาน 6 เดือนแรก ปี 62 แก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมูลค่ากว่า 1.17 พันล้านบาท เหล็กครองแชมป์อันดับหนึ่ง 836 ล้านบาท กำชับ ผู้ค้าออนไลน์ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2562 (ตุลาคม 2561– มีนาคม 2562) ว่า สมอ. เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราสินค้าในท้องตลาด สามารถยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมูลค่ากว่า 1.178 พันล้านบาท เหล็กมากที่สุด มูลค่ากว่า 836 ล้านบาท รองลงมาเป็นวัสดุก่อสร้าง มูลค่ากว่า 337 ล้านบาท ตามมาด้วยโภคภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องกล/ยานยนต์ ปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ ตามลำดับ
และในปีนี้ สมอ. ได้ปรับวิธีการตรวจติดตามร้านจำหน่าย จากเดิมดำเนินการตรวจร้านจำหน่ายในลักษณะปูพรมทั่วพื้นที่ในราชอาณาจักรเปลี่ยนเป็นการกำกับดูแลเน้นการสร้างเครือข่าย พร้อมทั้งจัดทีมเฉพาะกิจด้านการปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สุ่มตรวจสอบอย่างเข้มข้นตามจุดเป้าหมายต้นทางที่สำคัญตามแหล่งกระจายสินค้าต่างๆ ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2561 สมอ. ลงพื้นที่ตรวจห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้วจำนวน 47 แห่ง
นอกจากนี้ สมอ. ยังได้มีแนวทางในการกำกับดูแลร้านค้าออนไลน์ด้วย โดยได้เชิญผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์กว่า 50 ราย อาทิ บริษัท เซ็ลทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีพีแลนด์ จำกัด บริษัท ทีวีไดเร็ก จำกัด (มหาชน) บริษัท ไฮช้อปปิ้ง จำกัด ฯลฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เป็นมาตรฐานบังคับจำนวน 112 รายการ ที่ สมอ. ควบคุม
สำหรับการปรับแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ลดขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เพิ่มโทษสำหรับผู้ทำ และนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานบังคับ โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. จากเดิม จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสำหรับร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับตั้งแต่ 5000-50000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็น จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย
และได้ปรับปรุงการออกใบอนุญาต โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต หรือ E-license ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่เปิดใช้ระบบวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา โดยตั้งเป้าหมายภายในเดือนกันยายน 2562 ต้องยื่นผ่านระบบได้ 700 มาตรฐาน และภายในปี 2562 จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผลทดสอบกับห้องปฏิบัติการ (LAB) หน่วยตรวจสอบที่เป็น Outsource ให้กับ สมอ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยผู้ประกอบการไม่ต้อง Upload เอกสารเข้าสู่ระบบอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง สมอ. ยังได้ปรับปรุงระบบการชำระค่าบริการต่าง ๆ ของ สมอ. ให้สามารถชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทยได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยสามารถตรวจสอบหรือจัดพิมพ์ใบแจ้งหนี้สำหรับนำไปชำระเงินผ่านช่องทางการชำระเงินของธนาคารได้ ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา
นอกจากนั้นแล้ว สมอ. ยังได้มีการสร้างหน่วยงานเครือข่ายมาช่วยกำหนดมาตรฐาน (SDOs) ขณะนี้ได้ประกาศแต่งตั้งหน่วยงาน องค์กร และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ แล้ว จำนวน 36 หน่วยงาน ซึ่งทำให้การกำหนดมาตรฐานของ สมอ. เร็วขึ้น จากเดิม 315 วัน เหลือเพียง 150 วัน/เรื่อง
ด้านการส่งเสริม SMEs สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก. S) เพื่อยกระดับขีดความสามารถ SMEs และคาดว่า มาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์ของรถยนต์นั่ง และรถกระบะ ตามข้อกำหนด EURO 5 จะจัดทำแล้วเสร็จในปี 2562 และเมื่อผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 2564 ส่วนการก่อสร้างศูนย์ทดสอบทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2565