คปภ.เร่งเคลียร์ก่อนใช้ 2 กม.ประกันภัยใหม่
คปภ.จัดสัมมนาให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการประกันภัยกว่า 300 คนได้เร่งทำความเข้าใจ ก่อนกฎหมายใหม่ “ประกันชีวิต-ประกันวินาศภัย” ประกาศใช้ในอีกไม่ช้า เผย 3 ประเด็นที่ต้องจับตามอง ครอบคลุม “คนกลางและผู้ประเมินวินาศภัย” “หลักเกณฑ์ทางอิเล็กทรอนิกส์” และ “ความผิดฉ้อฉลประกันภัย” เชื่อส่งผลดีต่อผู้เอาประกันและวงการประกันภัยไทย
คนไทยผู้เอาประกัน และบริษัทประกันภัย ทั้งในซีกของธุรกิจประกันชีวิต และประกาศวินาศภัย จะต้องเตรียมตัวและรับมืออย่างไร? เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่าน 2 ร่างกฎหมายสำคัญไปแล้วก่อนหน้านี้ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เอง ก็เตรียมจะประกาศบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
2 ร่างกฎหมายที่ว่า ประกอบด้วย…ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่…) พ.ศ.… และ ร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่…) พ.ศ.…
ทั้งนี้ คปภ. โดยสายกฎหมายและคดีฯ ได้จัดสัมมนา “โครงการทำความเข้าใจหลักการของร่างกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย(กลุ่มที่ 1) ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลายภาคส่วนของธุรกิจประกันภัยกว่า 300 คน ณ โรงแรมสวิส โซเทล เลอ คองคอร์ด เมื่อช่วงสายของวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกันชีวิตและกฎหมายประกันวินาศภัยปัจจุบัน โดยมี 3 ประเด็นหลักที่ทุกฝ่ายจะต้องพิจารณาและเร่งทำความเข้าใจใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย และผู้ประเมินวินาศภัย เพื่อให้มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะขอรับใบอนุญาต รวมถึงกระบวนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนกลางประกันภัย และผู้ประเมินวินาศภัย โดยกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนมากขึ้น ลดปัญหาความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายที่ทำให้การตีความถ้อยคำไม่ตรงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงรูปแบบการประกอบธุรกิจประเมินวินาศภัยที่เป็นระบบในรูปนิติบุคคล ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน หากเกิดความเสียหายจะต้องมีระบบธรรมภิบาลมาช่วยในการบริหารและรับผิดชอบความเสียหายข้างต้น ซึ่งหากเป็นนิติบุคคลและมีใบอนุญาตเพียงประเภทเดียว จะไม่สร้างปัญหาซับซ้อนในการขออนุญาต
2.เปิดช่องให้คณะกรรมการ คปภ. กำหนดหลักเกณฑ์รองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะสำหรับธุรกิจประกันภัย สอดรับกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ และเพื่อให้มีมาตรฐานกลางด้านการรักษาความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกิจประกันภัยในการยึดถือปฏิบัติ โดยจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจประกันภัย รวมถึงสร้างความเชี่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในฐานข้อมูลของผู้เอาประกัน
และ 3. กำหนดให้การฉ้อฉลประกันภัย เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกันภัย จากเดิมที่ไม่เคยมีอยู่ในกฎหมายประกันชีวิตฯและกฎหมายประกันวินาศภัย แต่จากนี้ไป หากเกิดการกระทำที่เข้าข่ายการฉ้อฉลประกันภัยที่กระทบกับประชาชน สำนักงาน คปภ. ก็จะสามารถเข้าไปดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้โดยตรง ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นคนในวงการหรืออยู่นอกวงการประกันภัยก็ตาม
“กฎหมายที่แก้ไขและผ่านการพิจารณาของ สนช. มีหลักการใหม่ที่เพิ่มขึ้น จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ควรรับทราบข้อมูลและเร่งทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเฉพาะประเด็นความผิดฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายตรงออกมาบังคับใช้อย่างนี้ ซึ่งเชื่อว่าไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกัน หากยังทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมการประกันภัยของไทย ได้รับการยอมรับในเวทีสากลมากขึ้นด้วย” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ.