สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 มี.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและร้อนจัดบางพื้นที่ โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (78 มม.) จ.พิษณุโลก (66 มม.) และ จ.ลำพูน (51 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 28,860 ล้าน ลบ.ม. (50%) ขนาดใหญ่ 22,895 ล้าน ลบ.ม. (48%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล และสิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน +กอนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำเค็มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 65 = กรมชลประทาน ดำเนินการควบคุมค่าความเค็ม ดังนี้
วางแผนบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาโดยคำนึงถึงมาตรการประหยัดน้ำจากพื้นที่ตอนบน
ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านคลองสาขายังแม่น้ำท่าจีน ก่อนจะผันน้ำเข้าสู่คลองสาขาและสูบน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
บริหารจัดการประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคตามรอบเวร รวมทั้งขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า งดสูบน้ำสำหรับการเพาะปลูก
การประปานครหลวง สูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหลบเลี่ยงสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด และปฏิบัติการ Water Hammer เพื่อผลักดันน้ำเค็ม
กรุงเทพมหานคร ควบคุมการปิด-เปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาและใช้อุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม
ทั้งนี้ คาดการณ์ในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. 65 อาจเกิดน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและส่งผลให้ความเค็มรุกบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขอให้หน่วยงานติดตามเฝ้าระวังและปรับแผนการบริหารจัดการเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น