สรรพากรผนึกรัฐ-เอกชนทำบัญชีเดียว
กรมสรรพากร บูรณาการร่วม 4 หน่วยงาน “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า-แบงก์ชาติ-สภาวิชาชีพบัญชีฯ-กกร.” ส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำบัญชีเดียวให้ถูกต้อง สอดคล้องสภาพแท้จริงของกิจการ ชี้เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำธุรกรรมการเงิน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจของ SMEs ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ร่วมลงนาม ในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการสนับสนุนและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้จัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการระหว่าง 5 หน่วยงาน ซึ่งเป็นการยกระดับความร่วมมือครั้งสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะดำเนินการร่วมกันตามเจตนารมณ์
โดยกรมสรรพากรได้เสนอมาตรการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้อง ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มายื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมชำระภาษีครบถ้วน โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท และได้ลงทะเบียนในระบบของกรมสรรพากรภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ทุกประเภทภาษี เป็นระยะเวลา 1 ปีต่อเนื่อง
ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs มีรากฐานทางธุรกิจที่มั่นคง มีความน่าเชื่อถือ เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคตอีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ SMEs ก่อให้เกิดการขยายตัวของการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังสามารถใช้งบการเงินที่ถูกต้องเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อได้อีกด้วย
โดยมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำบัญชีให้ถูกต้องและตรงกับสภาพที่แท้จริงของกิจการแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชำระภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ “Thailand 4.0” และยุทธศาสตร์ของกรมสรรพากร D2RIVE (Digital Transformation, Data Analytics, Revenue Collection, Innovation, Values และ Efficiency) ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ทันสมัย รวดเร็ว และเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและประเทศชาติต่อไป
ด้านนายวุฒิไกร กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการเชื่อมโยงส่วนของฐานข้อมูลงบการเงินที่ผู้ประกอบการ SMEs นำส่งต่อกรมทางระบบ DBD e-Filing ไปยังฐานข้อมูลของกรมสรรพากร ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีอากรได้รับความสะดวก ไม่ต้องแนบงบการเงินซ้ำ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มที่อยู่ในเงื่อนไขได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และประสงค์จะส่งงบการเงินฉบับใหม่เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด กรมได้เปิดช่องทาง Fast Track ในการนำส่งงบการเงินฉบับใหม่ผ่านทางระบบ DBD e-Filing
ขณะที่ นางวจีทิพย์ ระบุว่า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนสถานะทางการเงินอย่างโปร่งใส ธปท.จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจโดยให้ใช้งบการเงินที่ลูกค้าแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้ ซึ่งสะท้อนถึงฐานะ และผลประกอบการในอดีตเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณาสินเชื่อ โดยอาจนำปัจจัยเชิงปริมาณหรือปัจจัยเชิงคุณภาพอื่นๆ เช่น แผนธุรกิจ คำขอเสนอซื้อสินค้า มาใช้ในการประเมินศักยภาพของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้คืนของผู้กู้ได้ ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวของภาครัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดจนเพื่อสร้างความโปร่งใสและยกระดับธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนในระยะยาว ธปท. จึงได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีมาตรการจูงใจสำหรับลูกค้าที่มีงบการเงินที่โปร่งใส เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมรวมทั้งสนับสนุนให้มีมาตรการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำบัญชีแก่ผู้ประกอบการด้วย
ส่วนนายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีฯ จะช่วยผลักดันและร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง แม้ว่าการกระทำต่างๆ จะทำให้บรรลุเป้าหมายยากลำบาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน เช่น ผู้ประกอบการ วิธีปฏิบัติ ฯลฯ แต่เมื่อปัจจุบัน รัฐบาลผ่อนผันแนวทางปฏิบัติให้ปรับบัญชีให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการ SMEs ควรส่งมอบข้อมูลพื้นฐานที่เกิดขึ้นตามจริงแก่นักบัญชี เช่น การซื้อ ขาย จ่าย รับ เพื่อนักบัญชีจะได้นำข้อมูลบันทึกรายการตามจริงได้ นอกจากนี้ สภาวิชาชีพบัญชีฯ ตระหนักถึงความยุ่งยากในการดำเนินกิจการว่า ต้องใช้เวลาและความพยายามในการดำเนินการมาก จึงหาทางช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการทำงานเพื่อให้นักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีทำงานได้ง่ายขึ้น จึงพัฒนาระบบ “Application SME สบายใจ” ให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ใช้ภายในเดือน เม.ย.นี้
นายสุพันธุ์ กล่าวเสริมว่า กกร.ได้มีการผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ดังนั้น กกร.จะเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งภาคเอกชนได้รับข่าวดีที่กรมสรรพากรได้เสนอมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการเพื่อสนับสนุนให้จัดทำบัญชีให้ถูกต้อง โดยยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สมาชิกของ กกร. ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชาสัมพันธ์และจัดทำสื่อต่างๆ จัดงานสัมมนากว่า 10 ครั้ง ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวมาโดยตลอด ซึ่งการเสนอมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการอันเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบ SMEs ของกรมสรรพากร ถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการที่จะดำเนินการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องนับจากนี้ มิฉะนั้นผู้ประกอบการจะมีความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงินและการแข่งขันทางธุรกิจ.