ฟิลลิป มอร์ริส ชื่นชมการปราบปรามบุหรี่เถื่อนในภาคใต้
เพื่อปกป้องรายได้ของประเทศและธุรกิจที่ถูกกฎหมาย
ฟิลลิป มอร์ริส ชื่นชมการทำงานของรัฐบาลต่อความพยายามเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการค้าบุหรี่ผิดกฎหมาย เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียรายได้ของประเทศ รวมถึงปกป้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติตามกฎหมายและเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่กลับได้รับผลกระทบจากธุรกิจผิดกฎหมายดังกล่าว
เจอรัลด์ มาร์โกลีส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด (ฟิลลิป มอร์ริส) กล่าวว่า “การยึดบุหรี่ผิดกฎหมายมากกว่า 850,000 รายการในจังหวัดสงขลาเมื่อสัปดาห์ก่อน ถือเป็นผลงานการจับกุมครั้งใหญ่ที่ยอดเยี่ยมของทางการไทย แม้ว่าการจับกุมครั้งนี้ยังเป็นแค่ส่วนน้อย หรือเป็นเพียงหยดน้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทรเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ปลอม ที่หมุนเวียนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 5 จังหวัดหลักทางภาคใต้”
นายมาร์โกลีส ได้เปิดเผยถึงผลการสำรวจซองบุหรี่เปล่า (PMTT Empty Packs Survey) ครั้งล่าสุด ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ระบุว่า “จังหวัดสงขลาเป็น 1 ใน 5 จังหวัดในภาคใต้ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ผิดกฎหมายมากที่สุดในประเทศ โดย 84.5% ของซองบุหรี่ที่เก็บได้เป็นบุหรี่ที่ไม่ได้เสียภาษี ตามด้วยจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ สตูล (84.1%) สุราษฎร์ธานี (57.7%) พัทลุง (56.9%) และนครศรีธรรมราช (46.9%) ซึ่งบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีส่วนใหญ่ในประเทศไทย (77%) มาจากห้าจังหวัดภาคใต้นี้ รวมถึงภูเก็ตและระนอง ขณะที่ในระดับประเทศ อุบัติการณ์ของบุหรี่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จาก 6.2% ในเดือนตุลาคม 2563 เป็น 10.3% ในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มจำนวนที่สูงที่สุดของบุหรี่ผิดกฎหมายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา”
บุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยาสูบโดยรวม ซึ่งได้แก่ชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัว ตลอดจนร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าอย่างถูกกฎหมายกว่า 500,000 ราย ผู้ผลิตและผู้นำเข้า ตลอดจนรายได้ของรัฐบาล โดยเราประมาณการว่ารายได้จากภาษีที่สูญเสียไปกับบุหรี่เถื่อนมีมูลค่าเกือบ 7 พันล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับปี 2563
นายมาร์โกลีสยังกล่าวด้วยว่า “นอกจากนี้ ปัญหาบุหรี่ปลอมภายใต้แบรนด์ของฟิลลิป มอร์ริสยังเพิ่มสูงขึ้น จากอุบัติการณ์บุหรี่ที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 10.3% มีถึง 1% ที่เป็นบุหรี่ปลอมที่มีการปลอมแปลงตราสินค้าของเรา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในปี 2563 เรายังพบบุหรี่ปลอมที่เป็นฉลากไทยแบบซองมาตรฐาน (ซองเรียบ) พร้อมรูปภาพข้อความคำเตือนด้านสุขภาพที่ติดแสตมป์ภาษีสรรพสามิตปลอมเป็นครั้งแรกในการสำรวจ EPS ปี 2564 นี้ด้วย ปัญหานี้ทำให้เกิดความกังวลใหม่เกี่ยวกับการละเมิดเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา”
“ฟิลลิป มอร์ริส มุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทยในการต่อสู้กับปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากและส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา และหลักนิติธรรม เราเชื่อว่าการจับกุมครั้งใหญ่เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในจังหวัดสงขลา จะกระตุ้นให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อการค้าผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายและกำลังเติบโตนี้ เรายังคงมุ่งหวังว่าทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมายในภาคใต้มากขึ้น และหวังว่าการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายจะประสบความสำเร็จดังที่ผ่านมาภายในปี 2565 นี้” นายมาร์โกลีส กล่าวสรุป การสำรวจซอง
บุหรี่เปล่า (Empty Packs Survey)
การสำรวจซองบุหรี่เปล่า (Empty Packs Survey) จัดทำขึ้นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลและติดตามสัดส่วนของบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ บุหรี่ที่ไม่เสียภาษี และบุหรี่ปลอม
การสำรวจซองบุหรี่เปล่า เป็นการเก็บรวบรวมกลุ่มตัวอย่างซองบุหรี่ทิ้งแล้วประมาณ 10,000 ซอง ด้วยวิธีการ Stratified Quota Sampling โดยสุ่มตามท้องถนนและสถานที่ทิ้งขยะสาธารณะในพื้นที่ 36 จังหวัดครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
สรุปผลการสำรวจซองบุหรี่เปล่า ประจำปี 2564
1.ประเทศไทยมีสัดส่วนบุหรี่ผิดกฎหมาย (บุหรี่ที่ไม่เสียภาษีในประเทศไทยและบุหรี่ปลอม) เพิ่มขึ้นมากถึง 66% จาก 6.2% ในปี 2563 เป็น 10.3 % ในปี 2564 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2554 หรือสูงที่สุดในรอบ 10 ปี
2.จังหวัดที่มีการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายสูงที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี พัทลุง และ นครศรีธรรมราช ซึ่งบ่งชี้ถึง “ความชุก” ของบุหรี่ผิดกฎหมายในจังหวัดนั้นๆ
3.ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณบุหรี่ผิดกฎหมายมากที่สุด โดย 77% ของบุหรี่ผิดกฎหมายทั้งหมดที่พบในการสำรวจถูกพบในจังหวัดภาคใต้
4.บุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 0.5% ของบุหรี่ทั้งหมดในปี 2563 เป็น 1% โดยในปี 2564 เป็นปีแรกที่เริ่มพบบุหรี่ปลอมรูปแบบใหม่ ซึ่งปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล (PMI) บรรจุอยู่ในซองบุหรี่แบบเรียบที่มีภาพและคำเตือนบนผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกับบุหรี่ถูกกฎหมาย รวมทั้งปิดแสตมป์สรรพสามิตปลอมเป็นครั้งแรกด้วย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ จากบุหรี่ไม่เสียภาษี
จากการประมาณการณ์ของบริษัทฯ บุหรี่ที่มิได้เสียภาษีในประเทศไทยอาจทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ภาษีในปี 2564 เป็นมูลค่าสูงถึงเกือบ 7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67 จากที่เคยประมาณการณ์ไว้จำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2563
กระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมยาสูบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัว การยาสูบแห่งประเทศไทย ผู้นำเข้า ตลอดจนร้านค้าปลีกยาสูบที่มีจำนวนกว่า 500,000 รายทั่วประเทศ
ผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศในด้านการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการต่างประเทศที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย