สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 มี.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณจ.ตราด (65 มม.) จ.ยะลา (60 มม.) และ จ.จันทบุรี (46 มม.)
ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. – 3 มี.ค. 65 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด (จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) รวม 44 อำเภอ 227 ตำบล 1,122 หมู่บ้าน 59,563 ครัวเรือน
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 30,715 ล้าน ลบ.ม. (53%) ขนาดใหญ่ 24,499 ล้าน ลบ.ม. (51%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 65 สั่งการให้หน่วยงานเร่งดำเนินการสำรวจและฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ดังนี้
กรมชลประทาน (ชป.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย วางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
ชป. ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งรัดและวางแผนการก่อสร้างพนังกั้นน้ำในจุดเสี่ยงอุทกภัยทั้ง 3 จังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) บูรณาการสำรวจและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย
สทนช. และ ศอ.บต. ประสานและบูรณาการ แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและยอมรับการดำเนินการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม