คปภ. ปลุกพลังตัวแทนประกันชีวิตทั่วไทย
เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังตัวแทนประกันชีวิตทั่วไทย หวังเพิ่มคุณภาพการขายประกัน พร้อมเน้นการให้บริการหลังการขาย รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาตนเอง รับมือธุรกิจประกันภัยยุคดิจิทัล
การประชุมสัมมนาคณะกรรมการสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินทั่วประเทศ ประจำปี 2562 ณ โรงแรมราชศุภมิตร อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานฯ และมีนายบวรศักดิ์ วานิช รอง ผจว.กาญจนบุรี ดร.กิรดา ลำโครัตน์ ผอ.การท่องเที่ยวและกีฬา จ.กาญจนบุรี ซึ่งนางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน พร้อมด้วยนางอังสนา เกตุเวช ประธานการจัดงานฯ คอยให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ งานดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมสัมมนารวมกว่า 500 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการสมาคมตัวแทนฯจากทั่วประเทศ ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้เกี่ยวข้อง โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี ยกระดับจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางวิชาการ พัฒนาความสามารถในด้านต่างๆ รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม
เลขาธิการ คปภ. ได้มอบนโยบายที่สำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันภัย คือ การพัฒนาช่องทางการจำหน่าย ส่งเสริมและกำกับดูแลให้ตัวแทนประกันชีวิตมีมาตรฐานจรรยาบรรณและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตต่อประชาชน ดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัยภายหลังที่มีการขาย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย
โดยย้ำว่า เนื่องจากตัวแทนประกันชีวิต ถือเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ ทัศนคติที่ดีให้ประชาชนผู้เอาประกันภัย ดังนั้น ตัวแทนประกันชีวิตจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเองให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์ในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การดำเนินงานจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพ และพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันชีวิต ได้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรง 627,559 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.55
“การพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น ตัวแทนประกันชีวิต มีส่วนสำคัญในการขยายตลาด รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ และทัศนคติที่ดีให้ประชาชนผู้ทำประกันชีวิตเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันชีวิต ส่งผลให้ช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงสูงสุด 305,408 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 48.56 ของเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงรวมทุกช่องทาง จึงถือได้ว่าตัวแทนประกันชีวิตเป็นผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนเป็นอย่างมาก”
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการตลาดที่มีคุณภาพ มีความโปร่งใส เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เอาประกันภัยด้วย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของประกาศฯ ฉบับนี้ ครอบคลุมทุกช่องทางการขายตั้งแต่ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ เทเลเซลล์ และไปรษณีย์ ส่วนช่องทางออนไลน์ทางอิเล็กทรอนิกส์จะยึดตามประกาศเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ยังมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล Insurance Core Principles (ICPs) ของ International Association of Insurance Supervisors (IAIS) สำหรับมาตรฐาน ICP 18 คนกลางประกันภัย (Intermediaries) คือ มีธรรมาภิบาลที่เหมาะสม มีการกำกับดูแลคนกลางประกันภัยที่เหมาะสม และคนกลางประกันภัยต้องมีระดับความรู้และประสบการณ์ รวมถึงคุณธรรมและประสิทธิภาพ และมาตรฐานICP 19 พฤติกรรมการดำเนินธุรกิจ (Conduct of Business)
โดยกำหนดให้บริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรและปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม และได้มีการปรับปรุงมาตรการลงโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการกำหนดมาตรการลงโทษตามลำดับชั้นของความผิด อันเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสำนักงาน คปภ. จะประกาศให้มีช่องทางอื่นๆ เพื่อให้มีกฎหมายครอบคลุมช่องทางที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตอีกด้วย
สำหรับการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (กลุ่มที่ 1) ซึ่งขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยจะมีผลใช้บังคับใน 180 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเษกษา ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อให้การกำกับดูแลตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
อีกทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจประกันภัย โดยมีการปรับปรุงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต รวมทั้งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติของตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความชัดเจน ตลอดจนกำหนดโทษในกรณีที่ตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกรณีมีการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งจะมีบทกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะ
“สำนักงาน คปภ. ต้องการให้การกำกับดูแลคนกลางประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งหนึ่งในความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. คือการเพิ่มการมีส่วนร่วมของบริษัทประกันภัยในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดช่องว่างการเสนอขายที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ทั้งธุรกิจประกันภัยและประชาชนเสียประโยชน์ รวมถึงเพิ่มบทบาทของบริษัทในการเข้ามาทำหน้าที่ป้องกันปัญหา (Prevention) ควบคู่ไปกับการคุ้มครอง (Protection) สิทธิประโยชน์ของประชาชนด้วย จึงขอเน้นย้ำให้ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่นำผลิตภัณฑ์ประกันภัยไปเสนอขายนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม และที่สำคัญคือต้องเพิ่มพูนความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับพัฒนาการทางการเงิน และการประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสามารถให้ข้อมูลกับลูกค้าได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุด” เลขาธิการ คปภ.ย้ำ.