สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ก.พ. 65
ประเทศไทยตอนบน อากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจ.นราธิวาส (227 มม.) จ.ยะลา (194 มม.) และ จ.สตูล (171 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 31,125 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดใหญ่ 24,838 ล้าน ลบ.ม. (52%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
ตั้งแต่วันที่ 25 – 26 ก.พ. 65 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) รวม 18 อำเภอ 76 ตำบล 277 หมู่บ้าน
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ หลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ได้สั่งการให้ กอนช. ประสานทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนพร้อมกำชับให้บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ บริเวณแม่น้ำปัตตานี ที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และบริเวณแม่น้ำโก-ลก ที่ จ.นราธิวาส มีระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ซึ่งปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขังอยู่และมีแนวโน้มลดลง กอนช. ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์และออกประกาศแจ้งเตือน เมื่อวันที่ 22 และ 25 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง และให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการเฝ้าระวัง พร้อมประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หยุดการระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เป็นการชั่วคราวจนกว่ามวลน้ำหลากจะระบายลงสู่ทะเลเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม รวมทั้งได้ประสานกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปัตตานี จ.ยะลา และประตูระบายน้ำปรีกี จ.ปัตตานี ร่วมกับคลองต่าง ๆ เพื่อตัดยอดน้ำ หน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ หน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครและมูลนิธิต่าง ๆ ได้เร่งเข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
จากการคาดการณ์ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.65 ปริมาณฝนตกในพื้นที่จะเริ่มลดลง ประกอบกับขณะนี้หน่วยงานได้เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ คาดว่าหากไม่มีฝนตกในพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จะเริ่มคลี่คลายเป็นลำดับ