สศช.จัดพิมพ์หนังสือ “ทรัพยศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย

สภาพัฒน์จัดพิมพ์หนังสือ “ทรัพยศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย
เนื่องในโอกาสที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ครบรอบการสถาปนา 72 ปี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 และ 160 ปี ชาตกาลของมหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศไทย สศช. ได้จัดพิมพ์หนังสือ “ทรัพยศาสตร์”ซึ่งนำเสนอแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เขียนโดยคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ประกอบด้วยหนังสือ ๓ เล่ม ได้แก่ ทรัพยศาสตร์ เล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 และเล่ม 3 เศรษฐกิจ-การเมือง หรือเศรษฐวิทยา
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของหนังสือทรัพยศาสตร์ ที่จะช่วยให้คนไทยได้ศึกษาและเข้าใจถึงรากเหง้าของการพัฒนาประเทศตั้งแต่ในยุคเริ่มแรกพัฒนาได้อย่างลึกซึ้ง จึงได้จัดพิมพ์หนังสือทรัพยศาสตร์ครบทั้ง ๓ เล่ม จัดพิมพ์ตามแบบต้นฉบับเดิม โดยได้แก้ไขเพียงรูปคำให้เป็นไปตามที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานฯ สำนึกถึงพระคุณของมหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตรที่ได้สร้างคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างอเนกอนันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนหนังสือทรัพยศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยังคงมีความทันสมัย นับเป็นมรดกล้ำค่าของคนไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดพิมพ์หนังสือทรัพยศาสตร์เผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจและสาธารณชนได้ศึกษาและค้นคว้าอย่างกว้างขวาง จะทำให้ผู้ที่สนใจศึกษาสามารถนำความรู้และแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงของประเทศชาติ ตลอดจนมีความเป็นธรรมในสังคม สมดังเจตนารมณ์ของพระยาสุริยานุวัตรที่ได้เขียนไว้ในคำนำในการจัดพิมพ์หนังสือว่า
“…ข้าพเจ้าขอแนะนำผู้ที่จะเรียนทำราชการ และผู้ที่จะเรียนทำการค้าขายหรือทำมาหากินเป็นผลประโยชน์นั้น ให้ได้อ่านเศรษฐวิทยานี้โดยจำเพาะ โดยที่เชื่อว่าเมื่อได้อ่านและได้ใช้สติปัญญาตรึกตรองดูตามข้อความต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ตามแบบแผนของนักปราชญ์แต่ก่อนและในปัจจุบันนี้แล้ว คงจะได้ความรู้ในตำรานี้ไปใช้เป็นประโยชน์ได้เป็นแน่ และถึงอย่างไรก็คงจะดีกว่าที่ไม่ได้ศึกษาวิชาทางนี้บ้างเลย…”
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ที่สนใจและสาธารณชนสามารถติดตามอ่านและดาวน์โหลดหนังสือทั้ง 3 เล่มดังกล่าวได้จากคิวอาร์โค้ดนี้ หรือที่เว็ปไซต์ สศช. www.nesdc.go.th
