บสย.ตั้งเป้าค้ำประกันปีนี้ 1.2แสนล้านบาท
เอ็มดีคนใหม่!! “กร” สิทธิกร ดิเรกสุนทร ประกาศนำ บสย.ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 30 อย่างมั่นคงและทันสมัย หลังจากครบรอบ 29 ปี ยอดค้ำประกันพุ่งสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 2.45 แสนล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านรายให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ปีนี้ ได้ตั้งเป้าหมายค้ำประกันสินเชื่อ 120,000 ล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยอดการค้ำประกันในระดับปกติ แต่หากนับรวบสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่า จะได้รับมอบหมายประมาณ 90,000 ล้านบาท จะทำให้ยอดค้ำประกันของ บสย.อยู่ที่ 210,000 ล้านบาท เหมือนกับปีที่แล้ว ที่ได้รับมอบเป้าหมายสินเชื่อฟื้นฟูจาก ธปท.เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส โควิด-19
“ปีที่แล้ว เรามียอดค้ำประกัน 245,548 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 29 ปี โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบระหว่างปี64 กับปี63 ขยายตัวถึง 73% และปีที่แล้ว บสย.ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 226,312 ราย เพิ่มขึ้น 36% มีเงินสินเชื่อเข้าสู่ระบบ 261,545 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.06 เท่าของค้ำประกัน”
ดังนั้น ในปีนี้หาก บสย.สามารถทำงานได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ความช่วยเหลือของ บสย.ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่า ภายในเดือนนี้ เราจะรับทราบเป้าหมายสินเชื่อฟื้นฟูจาก ธปท.อย่างชัดเจน
นายสิทธิกร กล่าวว่า กรณีที่ตนและผู้บริหาร ออกไปพบหน่วยงานต่างๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์เอกชน ทำให้เราทราบเป้า หมายที่ชัดเจนแต่ละธนาคารว่า ปีนี้ ต้องการให้เราค้ำประกันสินเชื่อมากหรือน้อยแค่ไหน ในฐานะที่ บสย.เป็นพันธมิตรกับทุกๆ ธนาคาร โดยปีที่ผ่านมา บสย.ได้ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากทุกๆ ธนาคารพันธมิตร ได้มากกว่า 3 ล้านราย ผ่านโครงการ PGS 9 จำนวน 81,721 ล้านบาท โครงการค้ำประกัน Micro 4 เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย จำวน 20,527 ราย โครงการสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.130,943 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ อีก 12,356 ล้านบาท
ส่วนเรื่องการยกระดับองค์กรเข้าสู่โลกเทคโนโลยีนั้น ในหลักการแล้ว บสย.ต้องก้าวให้ทันกระบวนการทำงานของธนาคาร พาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ ธนาคารเอกชนก้าวล้ำนำ บสย.ไปหลายเท่าตัว โดยจะต้องทำให้ บสย.ไม่ถูก Disruption แต่การที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และใช้เงินทุนสูงๆ ยังไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุด บสย.จะเร่งพัฒนาระบบและอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายก้าวตามหลังธนาคารพาณิชย์ เพื่อไม่ให้ตกขบวนก็พอแล้ว.