สรุปข่าวประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
หุ้น ตปท.-ไทย : ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาด (1 ก.พ.) เพิ่มขึ้น 273.38 จุด (0.78%)ปิดที่ 35,405.24 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 89.62 จุด(0.60%)ปิดที่ 15,019.68 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 30.99 จุด(0.69%) ปิดที่ 4,546.54 จุด ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ปิดตลาด(1 ก.พ.) ที่ระดับ 1,661.75 จุด เพิ่มขึ้น 12.94 จุด (0.78 %) มูลค่าการซื้อขาย 59,439.75 ล้านบาท
น้ำมันโลก-ไทย : สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 5 เซนต์ ปิดที่ 88.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 10 เซนต์ ปิดที่ 89.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
PTT Station ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร เว้น E20 และ E85 ปรับขึ้น 0.60 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มดีเซลทุกชนิด คงเดิม มีผล 2 ก.พ.65 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้ ULG = 41.96, GSH95 = 34.55, E20 = 33.44, GSH91 = 34.28, E85 = 26.74, HSD- B7= 29.94, HSD-B10 = 29.94, HSD-B20=29.94,ดีเซลพรีเมี่ยม B7 = 35.96 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร
2 ก.พ. 65 เวลา 05.00 น. บางจากฯ ปรับราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 91, 95 +50 ส.ต. E20, E85 +60 ส.ต. สำหรับกลุ่มดีเซลทุกชนิดราคาคงเดิม BCP Retail Price: GSH95S EVO =34.55 / GSH91S EVO =34.28 / GSH E20S EVO =33.44 / GSH E85S EVO =26.74 / Hi Diesel B20S =29.94 / Hi Diesel S =29.94/ Hi Diesel S B7 =29.94/ Hi Premium Diesel S B7 =35.96 (ราคาดังกล่าวยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องที่ กทม.)
ทองคำขึ้น 100 บาท : ราคาทองคำเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ราคาทองคำแท่ง รับซื้อบาทละ 28,300.00 ขายออกบาทละ 28,400.00 ทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 27,788.28 ขายออกบาทละ 28,900.00 บาท ราคาทองคำขึ้น 100 บาท เมื่อเทียบกับวันที่ 31 ม.ค.
เงินบาทแข็งค่าขึ้น : สำหรับค่าเงินบาทเทียบเงินสกุลโลก วานนี้ (1 ก.พ.) แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับวันที่ 31 ม.ค.โดยธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารพาณิชย์ โดยให้เงินบาทมีค่า 33.244 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แบงก์พาณิชย์ กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ใช้ซื้อขายกับลูกค้า โดยกำหนดค่าเงินบาทไว้ที่ 33.4062 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ, 45.1344 บาทต่อ 1 ปอนด์, 37.6930 บาทต่อ 1 ยูโร, 29.2659 บาท ต่อ 100 เยน, 4.3081 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ฮ่องกง ,กำหนดค่าเงินบาทที่ 24.8977 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ 8.0482 ต่อ 1 ริงกิตมาเลเซีย
มท.1 แจงเลือกตั้ง กทม. :
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้แจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบถึงกำหนดการเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รายงานต่อ ส.ว.เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ว่า ในเดือนมีนาคมจะแจ้งให้ ครม.รับทราบถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งในส่วนของ กทม. จะทำไปพร้อมกับการเลือก ส.ก. ส่วนการเลือกนายกเมืองพัทยา ทางกระทรวงมหาดไทยจะเสนอมาเช่นกัน แต่จะเป็นไปตามที่เสนอหรือไม่นัเนเช่นคงต้องพิจารณาอีกครั้ง
ลงทะเบียนบัตรคนจนใหม่ :
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 โดยมีกลุ่มเป้าหมายประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 20 ล้านคน (ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เดิมและผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่) คาดสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 โดยมีกรอบวงเงิน 564.455 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเหมาบริการระบบลงทะเบียน และการยืนยันตัวตน 164.274 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียน ของหน่วยรับลงทะเบียน 400.181 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบฯ ของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว
ลดเงินสมทบ ม.40 :
ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 – 31 ก.ค. 2565 โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดทั้ง 3 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ ทางเลือกที่ 3 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร
คนละครึ่งเฟส 4 คึกคัก :
กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้เปิดให้ประชาชนใช้จ่ายวันแรก เมื่อวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งพบว่าในการใช้จ่ายวันแรก ณ เวลา 16.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 5.44 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวม ทั้งหมด 1,132.44 ล้านบาท โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 2.4 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายรวม 501.24 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 253.43 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 247.81 ล้านบาท โดยมีประชาชนที่กดยืนยันเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 แล้ว จำนวน 16.93 ล้านราย