กพร.กำชับอัคราฯ ดูแลประชาชน-ปฎิบัติตามกฎหมาย
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกรณีคณะกรรมการแร่ฯเห็นชอบต่ออายุประทานบัตร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยกำชับให้บริษัทฯ ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย เน้นจ้างงานประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า ได้เชิญกรรมการผู้จัดการบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้ารับมอบนโยบายการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตทองคำ โดยกำชับให้บริษัทฯ ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแร่รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัด รวมถึงเน้นย้ำเรื่องการจ้างแรงงานให้จ้างประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงก่อน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน ในส่วนของการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่ประกอบการและพื้นที่โดยรอบ ได้กำชับให้บริษัทฯ ส่งเสริม ช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับ และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม 2563 คณะกรรมแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง ในพื้นที่อำเภอชนแดนและวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นคำขอที่ยื่นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2548 และได้มีการดำเนินการต่อตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำและพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีอายุในการสำรวจไม่เกินแปลงละ 5 ปี กรมฯ จึงได้อนุญาตเป็นอาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2563-46/2563 ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2568 โดยกำหนดให้ต้องได้รับการยินยอมหรือการอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนการสำรวจ และเมื่อได้ดำเนินการสำรวจโดยวิธีการเจาะสำรวจแล้วต้องฟื้นฟูดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามที่เสนอไว้ในแผนการสำรวจด้วย
ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2564 คณะกรรมการแร่ฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด จำนวน 4 แปลง ได้แก่ ประทานบัตรที่ 25528/14714 ในพื้นที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และประทานบัตรที่ 26910/15365 ประทานบัตรที่ 26911/15366 และประทานบัตรที่ 26912/15367 ในพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ออกไปอีก 10 ปี กรมฯ จึงได้อนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตร 4 แปลงดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574 และกรมฯ ได้อนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 ให้แก่บริษัทฯ เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า และวิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2570 ซึ่งคำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่บริษัทฯ ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม และต่อมาได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำด้วยแล้ว
“สำหรับการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษและการประกอบโลหกรรม รวมถึงการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรดังกล่าวข้างต้น เป็นไปเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีวัตถุดิบทองคำและเงินทดแทนการนำเข้า ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยกระดับรายได้ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ประชาชนมีรายได้ลดลงจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย” นายนิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย