ปีนี้ “จีน-อินโดนีเซีย” ลดนำเข้าน้ำตาลไทย
หลังจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูผลิตปี 2016/17 พุ่งสูงขึ้นถึง 1,084 บาท/ตันอ้อย จูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศในฤดูผลิตปี 2017/18 มีความเหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอ้อย จึงมีผลผลิตอ้อยอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูผลิตปี 2017/18 สูงถึง 134.9 ล้านตัน และมีผลผลิตน้ำตาลสูงถึง 14.7 ล้านตัน
แต่สำหรับฤดูผลิตปี 2018/19 ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตกต่ำลงมาอยู่ที่ 793 บาท/ตันอ้อย ประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอ้อยเทียบเท่ากับในฤดูผลิตปี 2017/18 นั้น
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ อีไอซี คาดว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบน่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านตัน หรือหดตัวลง 11% จากฤดูผลิตปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในฤดูผลิตปี 2018/19 โรงงานน้ำตาลต่างๆ ได้วางแผนขนส่งอ้อยและเปิดหีบอ้อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการลดอ้อยปนเปื้อน และได้ผลผลิตน้ำตาลที่มีค่าความหวานที่ดี ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลยังสามารถรักษาระดับ Productivity ได้ใกล้เคียงกับในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลในฤดูผลิตปี 2018/19 อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านตัน ซึ่งแม้จะลดลงจากฤดูผลิตปี 2017/18 แต่ก็ถือว่ายังเป็นปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีตซึ่งอยู่ที่ประมาณ 9-11 ล้านตัน/ปี
และยังคาดว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศปี 2019 น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.6 ล้านตัน จาก 2.5 ล้านตันในปี 2018 สอดคล้องกับการเติบโตของจำนวนประชากร และการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย ในขณะที่ปริมาณการส่งออกน้ำตาลของไทยน่าจะอยู่ที่ 7.8 ล้านตัน ลดลง 6% จากปี 2018 สอดคล้องกับทิศทางปริมาณการส่งออกน้ำตาลของโลกที่มีแนวโน้มหดตัวลง แม้ว่าปริมาณการส่งออกน้ำตาลของไทยในปี 2019 จะหดตัวลง
แต่ประเทศไทยจะยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกได้ที่ 13.5% ของปริมาณการส่งออกน้ำตาลของโลก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,761 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัวจากปี 2018 โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากจุดต่ำสุดที่ 12.6 เซ็นต์ต่อปอนด์ มาอยู่ที่ราว 13-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ในปี 2019 เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของไทย
อีไอซี ยังบอกว่า สิ่งที่น่าจับตาคือ อินโดนีเซีย และจีน กำลังเร่งขยายการผลิตน้ำตาล อาจจะนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลงปัจจุบันไทยเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล โดยมีประเทศในกลุ่มอาเซียน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ ทั้งนี้ ในปี 2018 ไทยส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศดังกล่าวรวมกันเป็นปริมาณ 6.8 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 82% ของปริมาณการส่งออกน้ำตาลทั้งหมดของไทย
“การเร่งขยายกำลังการผลิตน้ำตาลของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย และจีน อาจส่งผลให้ประเทศดังกล่าวนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลง ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่สำคัญในการส่งออกน้ำตาลของไทยในระยะข้างหน้า”
สำหรับประเทศ อินโดนีเซีย มีการผลิตน้ำตาลทรายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ส่งผลให้ต้องนำเข้าน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านตันต่อปี โดยคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าไม่ต่ำกว่า 65% ของการบริโภคภายในประเทศ ในจำนวนนี้ เกินครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าจากไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของปริมาณการส่งออกน้ำตาลของไทยโดยรวม
จากความต้องการบริโภคน้ำตาลในอินโดนีเซียที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมาจากฐานประชากรและรายได้ประชากรที่ขยายตัว ส่งผลให้อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตน้ำตาลในฤดูผลิตปี 2018/19 เป็น 3.8ล้านตัน จากปัจจุบันที่สามารถผลิตได้ประมาณปีละ 2 ล้านตัน รวมถึงในระยะยาว อินโดนีเซียยังมีแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ฟื้นฟูโรงงานน้ำตาล และปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาล รองรับความต้องการในประเทศอีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้อินโดนีเซียนำเข้าน้ำตาลลดลง และกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของไทยในระยะข้างหน้า
ส่วน จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลผลิตน้ำตาลสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่ความต้องการบริโภคน้ำตาลที่อยู่ในระดับสูงกว่า 15 ล้านตันต่อปี จากฐานประชากรขนาดใหญ่ ส่งผลให้จีนยังต้องนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าไม่ต่ำกว่า25% ของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากบราซิล และคิวบา คิดเป็นสัดส่วน 34% และ 18% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การขยายกำลังการผลิตน้ำตาลในจีน ทั้งการลงทุนก่อตั้งโรงงานน้ำตาลของผู้ประกอบการไทยในพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซี ตั้งแต่ปี 1993 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และการขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลของจีนเอง ส่งผลให้จีนมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น และนำเข้าน้ำตาลลดลง โดยการนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลงจากปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนตันในอดีต มาอยู่ที่ปีละ 3 แสนกว่าตันในช่วงสามปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลของไทยยังมีแผนขยายการลงทุนโรงงานน้ำตาลในจีนเพิ่มเติม ในช่วงปลายปี 2019 ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลจากไทยไปจีนลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วยเช่นกัน.