บอร์ด EEC อนุมัติงบ 4,342 ลบ.โครงการเร่งด่วน
บอร์ด EEC เห็นชอบ 14 โครงการเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 4,342 ล้านบาท ตั้งเป้าความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายถึงปี 2573 มากถึง 1 ล้านคน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน รับทราบหลักการแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 – 2564 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอ รวม 86 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 13,572 ล้านบาท (งบประมาณ 9,299 ล้านบาท และการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน หรือ PPP 4,274 ล้านบาท) แยกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
จัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี 27 โครงการ 2. ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมือง และชุมชนอย่างน่าอยู่ 14 โครงการ 3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 8 โครงการ 4. บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อย่างมีประสิทธิภาพ 37 โครงการ และเพื่อให้การดำเนินการทันที ที่ประชุมจึงให้ความสำคัญกับโครงการเร่งด่วน (Flagship Project) 14 โครงการ งบประมาณ 4,342 ล้านบาท และรัฐร่วมทุนเอกชน PPP 4,273 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เร่งการจัดการมลพิษที่เป็นปัญหาสะสมในพื้นที่ ทั้งขยะและ
น้ำเสีย โดยเน้นจัดหาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบ ให้มีศักยภาพในการรองรับมากขึ้น
กลุ่มที่ 2 เตรียมการรองรับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม และการฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต โดยเร่งการศึกษาประเมินผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยว เพื่อเป็นฐานการพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้การขับเคลื่อนแผนสิ่งแวดล้อมฯ จะปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Creative and Green Economy) ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบแผนการพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและการใช้พื้นที่ และสั่งการให้ติดตามความก้าวหน้าของแผนการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรม และขอทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการด้านการพัฒนาคน สาธารณสุข และการดูแลสิ่งแวดล้อมและผังเมือง จะเป็นกรอบสร้างความสุขถ้วนหน้าด้านสังคมให้กับประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
อีกทั้ง ยังได้รับทราบแผนปฏิบัติความร่วมมือพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการศึกษาที่ กพอ.
ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2560 ซึ่งปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ได้ทำงานร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยยึดถือความต้องการของเอกชนเป็นสำคัญ และเพื่อให้บุคลากรทุกกลุ่มมีงานทำและมีรายได้สูงถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดผลกับประชาชนได้จริง
สำหรับความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษถึงปี 2573 มากถึง 1 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ 55,000 คน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 56,000 คน กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีภาพ 15,000 คน กลุ่มท่องเที่ยว 3 แสนคน กลุ่มการแปรรูปอาหาร 45,000 คน กลุ่มดิจิทัล 2.8 แสนคน กลุ่มหุ่นยนต์ 96,000 คน กลุ่มการการแพทย์และบริการสุขภาพ 95,000 คน กลุ่มการบินและชิ้นส่วน 58,000 คน กลุ่มโลจิสติกส์ 90,500 คน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันจากทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อติดตามความต้องการแรงงานที่ชัดเจน และให้เสนอที่ประชุมในครั้งหน้า
นายคณิศ ยังคงมั่นใจว่า ทุกโครงการลงทุนใน EEC ได้ผู้เข้ามาลงทุนภายในเดือนเม.ย.นี้ ทั้งในส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการท่าเรือท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งในส่วนท่าเรือแหลมฉบังได้มีการเลื่อนการเปิดประมูลไปในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ซึ่งทราบมาว่า มีเอกชนรายใหญ่พร้อมเข้ามาลงทุนแล้ว
ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอให้เลื่อนการยื่นซองประมูลออกไป นายคณิศ ชี้แจงว่า เนื่องจากว่า กลุ่มบริษัทใหญ่ในยุโรปและญี่ปุ่น จำเป็นต้องเสนอแผนและรายละเอียดที่ชัดเจนให้กับกรรมการบริษัท ซึ่งทางคณะกรรมการสกพอ.เข้าใจในจุดนี้ จึงให้เลื่อนไป 20 วัน แต่ยืนยันว่า ภายในเดือนเม.ย.จะได้ผู้ลงทุน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการอนุมัติการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม อีก 3 เขต รวม 2,400 ไร่ ประกอบด้วย เขตพื้นที่ศรีราชา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ทำในเรื่องการแพทย์และบริการสุขภาพ เขตพื้นที่ฉะเชิงเทรา ทำเรื่องอีคอมเมิร์ซ และเขตพื้นที่บ้านโพธิ์ ทำเรื่องยานยนต์สมัยใหม่