กสิกรไทยมองเศรษฐกิจจีนปีหน้าโต 5% พ้นจุดต่ำสุด
เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2564 ขยายตัวต่ำสุดในรอบปีที่ 4.0 %(YoY)…มองทั้งปี 2565 โต 5.0%
เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.1(YoY) สูงกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 (YoY) โดยในไตรมาส 4/2564 เศรษฐกิจเติบโตที่ 4.0 (YoY) นับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบปีส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยการชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 นี้เป็นผลจากการเผชิญกับประเด็นหนี้และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์จากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid-Zero) และราคาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ทางการจีนเลือกใช้นโยบายทางการเงินในการเพิ่มสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการประกาศปรับลดสัดส่วนกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในอัตรา 0.5% สำหรับสถาบันทางการเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 15 ธันวาคม 2564 โดยเป็นปรับลดครั้งที่สองในปีนี้ รวมถึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) สำหรับการกู้ 1 ปี ลงร้อยละ 0.05 ลงสู่ระดับ 3.8% ในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ย LPR ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่เมษายน 2563 โดยมีรายละเอียดการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ดังนี้
ภาคการบริโภคเอกชนของจีนยังคงเติบโตแม้มีการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ในไตรมาส 4 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการ PMI Service Caixin ที่มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจขนาดเล็กยังคงอยุ่ในทิศทางขยายตัวในกรอบ 52.1-53.8 หลักจากในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบปีที่ 46.7 โดยในไตรมาส 4 ตัวเลขการค้าปลีกภาพรวมทั้งประเทศ (Retail Sale) ยังขยายตัวอย่างจำกัดในกรอบร้อยละ 1.7– 4.9 (YoY) ทั้งนี้ พบว่าตัวเลขการค้าปลีกในเขตชนบทมีการขยายตัวดีกว่าเขตเมืองในช่วงไตรมาส 4 เป็นไปตามพื้นที่การประกาศปิดเมืองต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อาทิ การล็อกดาวน์เมืองหลานโจวในมณฑลกานซู่ในช่วงเดือนตุลาคม การ ล็อกดาวน์เมืองเฮ่ยเหอในมณฑลเฮย์หลงเจียงในเดือนพฤศจิกายน และล็อกดาวน์เมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่า 13 ล้านคนอย่างซีอานมณฑลส่านซีในเดือนธันวาคม
ภาคการผลิตยังคงถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าวิกฤติพลังงานเริ่มคลี่คลาย ภาคการผลิตจีนเติบโตอย่างชะลอตัว สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ที่เติบโตในกรอบร้อยละ 3.5-4.3 (YoY) ในไตรมาสนี้ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.1 – 6.4 (YoY) โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดในเดือนตุลาคมที่ระดับร้อยละ 13.5 (YoY) ก่อนปรับลดมาที่ 10.3 (YoY) ในเดือนธันวาคม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ในวัสดุก่อสร้าง อาทิ ซีเมนต์และเหล็กกล้า ที่ลดลงในช่วงฤดูหนาว รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง อาทิ ราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.4 (MoM) ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ทำให้ทั้งปี 2564 PPI ของจีนขยายตัวที่ร้อยละ 8.1 (YoY)
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโตได้ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมไฮเทค ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างชะลอตัว การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) ขยายตัวร้อยละ 4.9 (YTD, YoY) สนับสนุนโดยการลงทุนในภาคการผลิตที่เติบโตที่ร้อยละ 13.5 (YTD, YoY) และอุตสาหกรรมไฮเทคที่เติบโตร้อยละ 17.1 (YTD, YoY) โดยเฉพาะการลงทุนในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงาน ทั้งนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 (YTD, YoY) และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.4 (YTD, YoY) ผลจากนโยบาย “สามเส้นแดง” ที่ออกมาเพื่อลดการก่อหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และการกำหนดสัดส่วนสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และต่อผู้กู้ซื้อบ้าน
ภาคการส่งออกทั้งปี 2564 มีการเกินดุลการค้ามูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเริ่มบันทึกในปี 2493 ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย โดยการเกินดุลแตะระดับ 676 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ระดับ 534 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 29.1 (YTD, YoY) โดยภาพรวมการส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 29.9 (YTD, YoY) โดยสินค้าที่มีการขยายตัวโดดเด่นได้แก่ อุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก อลูมิเนียม ในขณะที่มีการหดตัวในผลิตภัณฑ์ผ้าทอและเส้นด้าย ขณะที่ภาคการนำเข้าทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 30.1 (YTD, YoY) โดยสินค้าที่ขยายตัวโดดเด่นอยู่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่เหล็ก ทองแดง ถ่านหิน โดยเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้น มากกว่าปริมาณนำเข้าที่สูงขึ้น
เศรษฐกิจจีนในปี 2565 ยังเผชิญแรงกดดันจากภายนอกจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และความเสี่ยงภายในประเทศที่ยังรุมเร้า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ กอปรกับภาวะชะลอตัวลงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจลากยาว รวมถึงประเด็นด้านการยกระดับกฎหมายเข้าควบคุมเศรษฐกิจ (Regulatory Crackdown) ที่น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาด และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามแนวคิดเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) อย่างไรก็ดี ในปี 2565 เชื่อว่าทางการจีนจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้ราวร้อยละ 5.0 ผ่านการเริ่มเห็นแนวทางการผ่อนคลายทั้งด้านนโยบายทางการเงินและการคลังของจีนในเชิงรุกมากขึ้น โดยในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของจีนระบุถึงการดำเนินนโยบายการคลังปี 2565 โดยจะออกมาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียมอีกครั้งเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจ และพร้อมเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐเพื่อสนับสนุนธุรกิจขยายย่อมเพื่อสร้างตลาดเศรษฐกิจภายในประเทศให้สมบูรณ์ ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ก็ส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการเริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างผ่อนคลาย ซึ่งเป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปจากต้นปี 2564 ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการเงินแบบระมัดระวัง ทั้งนี้ มองว่าทางการจีนยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย จากภาวะเงินเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อเร่งตัวทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 4.8 – 5.4)