กรมศุลกากรโชว์ผลงานปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย
กรมศุลกากร มีนโยบายให้การเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร มีนโยบายให้การเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ป.ป.ส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
สำหรับการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรประจำเดือนธันวาคม 2564
มีจำนวน 1,509 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 838.63 ล้านบาท มีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ผลการจับกุมยาเสพติด
– เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และชุดปฏิบัติการร่วมสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดประจำท่าเรือสากล หรือ Seaport Interdiction Task Force : SITF ประกอบด้วยกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันตรวจสอบสินค้าต้องสงสัย ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ไอซ์) ซุกซ่อนอยู่แผ่นซิลิโคนปูพื้น น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 897 กิโลกรัม มูลค่า 538.2 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการแถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564
– เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากร โดยคณะทำงานเฉพาะกิจสืบสวนและสกัดกั้นการลักลอบยาเสพติด และชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force: AITF ได้ทำการตรวจสอบพัสดุที่มาจากประเทศโคลัมเบีย ซึ่งตรงกับรูปแบบของการลักลอบส่งยาเสพติดทางพัสดุ ผลการตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ซุกซ่อนอยู่ในผนังกระเป๋าสตรี น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,840 กรัม มูลค่า 5.5 ล้านบาท
– เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และ
ชุดปฏิบัติการร่วมสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดประจำท่าเรือสากล หรือ Seaport Interdiction Task Force : SITF ประกอบด้วยกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันตรวจสอบสินค้าต้องสงสัย ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ไอซ์) ซุกซ่อนอยู่ในชุดกระสอบทรายแบบตั้งพื้นสำหรับฝึกซ้อมชกมวย ห่อหุ้มประมาณ 193.5 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 116.1 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการแถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564
– เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากร โดยคณะทำงานเฉพาะกิจสืบสวนและสกัดกั้น
การลักลอบยาเสพติด และชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force: AITF ได้ทำการตรวจสอบพัสดุที่มาจากประเทศ UAE ซึ่งตรงกับรูปแบบของการลักลอบส่งยาเสพติดทางพัสดุ ผลการตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) ซุกซ่อนอยู่ในผนังแฟ้มเอกสาร น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 835 กรัม มูลค่า 2.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวน 10 คดี มูลค่า 699.86 ล้านบาท
2. ผลการจับกุมบุหรี่
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ได้นำเรือศุลกากรออกลาดตระเวนบริเวณริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก ตำบลนานาค อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พบกล่องกระดาษวางอยู่ริมแม่น้ำจำนวนมาก อันเป็นเหตุต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นสินค้าลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักร จึงทำการตรวจค้น พบเป็นบุหรี่ อันมีเมืองกำเนิดจากต่างประเทศ ไม่ติดอากรแสตมป์ และไม่มีหลักฐานผ่านพิธีการศุลกากร รวมจำนวน 40 ลัง (10,000 ซอง) จำนวน 200,000 มวน มูลค่า 660,000 บาท
ทั้งนี้สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2564 ได้แก่ 1. บุหรี่ จำนวน 68 คดี มูลค่า 85.1 ล้านบาท 2. บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 27 คดี มูลค่า 819,120 บาท
3. ผลการจับกุมสินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากร โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมทางศุลกากรและการจัดเก็บรายได้ สำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 ได้ทำการตรวจค้นจับกุม รถบรรทุก บริเวณถนน นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี ซึ่งบรรทุกกระเทียม เมืองกำเนิดต่างประเทศ ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น จำนวน 1,000 กระสอบ น้ำหนัก 10,000 กิโลกรัม มูลค่า 272,000 บาท
ทั้งนี้สถิติการจับกุมสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวน 64 คดี มูลค่า 7.09 ล้านบาท