คลังเอ็มโอยูควบรวม “ทหารไทย-ธนชาต”
คลังไฟเขียวเพิ่มทุน รองรับการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต รอลุ้นผู้ถือหุ้นใหญ่ต่างชาติ 2 รายอนุมัติ คือ ING และ สโกเทีย ภายในสิ้นเดือนนี้ ยันควบรวมกิจการเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยไม่ลดอัตราภาษีเพิ่ม
“ ผมมั่นใจว่า ดีลนี้ จะเสร็จเรียบร้อยอย่างแน่นอน เพราะจะมีลงนามในเอ็มโอยูเร็นๆ นี้ “ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือTMB เปิดเผย และกล่าวว่า
“ ในเร็วๆ นี้ จะมีการลงนามในข้อตกลงเบื้องต้น หรือเอ็มโอยู ระหว่างกระทรวงการคลัง กับพันธมิตรใหม่ ในการควบรวมกิจกรรมระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาต ”
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว หลังจากควบรวมกิจการจะไม่มีชื่อของธนาคารธนชาตอีกต่อไป โดยจะเปลี่ยนเป็นธนาคารทหารไทย ซึ่งก็คือ สูตรในการควบรวมกิจการระหว่างธนาคาร A กับธนาคาร B จะเหลือเพียง A เท่านั้น ซึ่งธนาคาร A ก็คือ ธนาคารทหารไทยที่มีความแข็งแกร่งในทุกๆ ด้านและสามารถก้าวขึ้นเป็นธนาคารระหว่างประเทศได้
“ จะมีการเอ็มโอยูร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ ได้ข้อสรุปหมดแล้ว เหลือเพียงแต่รายละเอียดในฝั่งของผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติคือ ING Bank N.V. ถือหุ้นธนาคารทหารไทยในสัดส่วน 25.018% ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองลงจากกระ ทรวงการคลังและผู้ถือหุ้นรายใหม่คือ ธนาคารธนชาตซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 48.99% เป็นต่างชาติคือ Scotia Netherlands Holding B.V ต้องไปหารือเพื่อตกลงเรื่องนี้ด้วย ”
ส่วนกระทรวงการคลังจะไม่มียกเว้นภาษี หรือลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม นอกจากเหนือไปจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2561 อนุมัติออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย โดยเนื้อสาระของกฎหมายดังกล่าว จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่า เพิ่ม (แวต) ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์รวมถึงค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกัน หรือโอนกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนให้แก่กัน โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดของมาตรการคือ สิ้นปี2562
สำหรับกระบวนการควบรวมกิจการจากนี้ไป ฝ่ายบริหารของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต จะต้องวางแผนควบรวมสาขา ปรับปรุงการหน่วยงานบริการและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งโดยหลักการแล้ว จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3-6 เดือนนับจากนี้ไป
หลังควบรวมกิจการแล้ว กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่ นายประสงค์ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง จะยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นธนาคารทหารไทยไว้ระดับเดิม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นในธนาคารทหารไทย 25.915% ดังนั้น หากต้องเพิ่มทุน กระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะใส่เงินเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในอยู่ระดับเท่าเดิม ประมาณ 25-26% โดยจะต้องใส่เงิน 8,000 ล้านบาท หรือ 13,000 ล้านบาท ก็มีความพร้อม… แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้สรุปว่า จำนวนเงินจะเป็นเท่าไหร่ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวในที่สุด.