กรมศุลฯจับลอบนำเข้าสารสกัดสูบบารากู่ 6 ล.
ศุลกากรกรุงเทพ จับกุมสารสกัดที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันสำหรับอุปกรณ์บารากู่ 292 หีบห่อ รวมน้ำหนัก 7,000 กก. จาก UAE มูลค่าเฉียด 6 ล้านบาท
ตามที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายด้านการควบคุมทางศุลกากร เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงมอบหมายให้นายบุญเทียม โชควิวัฒน รองอธิบดีกรมศุลกากร และนางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ มุ่งเน้นการปราบปราม การลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แอุปกรณ์บารากู่ ละสินค้าที่สำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จ โดยเฉพาะสินค้าประเภท สารสกัดของผสมที่มีกากน้ำตาลผสมอยู่ แต่งกลิ่นรสด้วยผลไม้ ที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันสำหรับอุปกรณ์บารากู่ นั้น
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.62 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และฝ่ายบริการศุลกากรที่ 2 ส่วนบริการศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ ร่วมกันตรวจสอบสินค้านำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A001-0-6202-07674 ใบตราส่งเลขที่ AEBK0256411 ซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ หมายเลข TLLU2586983 ขนาด 20 ฟุต โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็น กากน้ำตาล (MOLASSES) ไม่มียี่ห้อ จำนวน 292 หีบห่อ น้ำหนักสุทธิ 7,000.00 กิโลกรัม ราคา CIF 488,951.88 บาท ประเทศกำเนิด UNITED ARAB EMIRATES (UAE) ชำระอากรตามประเภทพิกัด 1703.90.90 อัตราอากรตามสภาพ 0.08 บาทต่อกิโลกรัม
ผลการตรวจสอบและผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้า พบเป็นสารสกัด ประกอบด้วยของผสมที่มีกากน้ำตาลผสมอยู่ แต่งกลิ่น รสด้วยผลไม้ ที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันสำหรับซึ่งต้องชำระอากรตามประเภทพิกัด 2403.11.00 อัตราอากรร้อยละ 60 ในฐานะยาสูบที่เจตนาใช้สูบด้วยกล้องยาเส้นชนิดวอเตอร์ไปป์ และประกอบด้วยของผสมของยาสูบกับกลีเซอรอล จะมีน้ำมันหรือสิ่งสกัดที่มีกลิ่นหอม กากน้ำตาลหรือน้ำตาลผสมอยู่หรือไม่ก็ตาม และจะปรุงแต่งกลิ่นรสด้วยผลไม้หรือไม่ก็ตาม และต้องชำระภาษีสรรพสามิต ยาสูบ ตามประเภทที่ 14.01 รหัสสินค้าสรรพสามิต 1401060200 อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 หรือ 0.005 บาทต่อหนึ่งกรัม เศษของหนึ่งกรัมให้นับเป็นหนึ่งกรัม ตามปริมาณ และภาษีเพื่อมหาดไทย 10 % ของค่าภาษีสรรพสามิต และเป็นของต้องห้ามในการนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 รวมมูลค่า 5,998,370.00 บาท
การกระทำดังกล่าว จึงถือว่ามีความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้า ประเภทพิกัดอัตราอากรเป็นเท็จ และนำของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามอันเกี่ยวข้องกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบกับมาตรา 252 และหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ อันเป็นความผิดตามมาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 166 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 12 ธ.ค.57.