สอน.รณรงค์ไม่เผาอ้อย ช่วยลดฝุ่น
สอน. ร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ผนึกกำลังร่วมแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการสำรวจปริมาณอ้อยไฟไหม้ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2560/2561 และฤดูการผลิตปี 2561/2562 ณ วันหีบที่ 70 ของฤดูการผลิต มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงถึง 4% โดยอ้อยไฟไหม้ของฤดูการผลิตปี 2560/2561 มีปริมาณ 37,357,786 ตัน คิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ส่วนอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 มีปริมาณ 34,628,902 ตัน คิดเป็นร้อยละ 56 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้
ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับ สมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และเกษตรกร ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จับมือรณรงค์ไม่ให้เก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลและให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเผาอ้อย อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรื่อง มาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โทษของฝุ่น PM 2.5 การตัดอ้อยเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวนมาก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ
ทั้งนี้ สอน. จะเดินหน้าโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2562 สอน. ได้เสนอขอขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562 – 2564) โดยมีอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรรายบุคคลอยู่ที่ MRR-5 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี
สำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MLR-3 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และคุณภาพของผลผลิตอ้อย อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาวส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและลดปริมาณอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืนอีกด้วย