สศค.คาดเศรษฐกิจปีนี้โต 4%
“สศค.ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 62 จะเติบโตได้ 4% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 61 ที่เติบโตได้ 4.1%โดยการส่งออกปีนี้คาดว่าจะเติบโตชะลอลงเหลือ 4.5% การนำเข้าเติบโต 5.4%”
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา และกล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ จะเติบโตได้ 4.5% ส่วนการลงทุนภาครัฐเติบโตได้ 5.3% การบริโภคภาคเอกชนปีนี้ เติบโต 4.3% การบริโภคภาครัฐ เติบโต 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.9%
“สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัว 4.0% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5-4.5% ได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประ มาณ2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า และนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี2562 จะอยู่ที่ 1.0% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5% ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง
“ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 4.1% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.9% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนปี 61 ขยายตัว 4.5% การบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 2.0% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.4% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 4.2%
นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย โดยการส่งออกในปี 61 เติบโตได้ 6.5% สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ.