ลูกหนี้รายย่อยแห่ยื่นกู้โกไฟแนนซ์1.1 ล้านราย
รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนตุลาคม 2564
นางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ให้ความร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับลูกหนี้ ประกอบด้วย การลดค่างวดการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การเปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว การพักชำระค่างวดการพักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และการพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย รวมจำนวนสะสม(ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 – เดือนกันยายน 2564) ทั้งสิ้น 402 ราย ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จำนวนสะสมทั้งสิ้น 23,172 บัญชี โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สะสม สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (50 ราย) ขอนแก่น (32 ราย) และกรุงเทพมหานคร (24 ราย)
สำหรับภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 1,018 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (593 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (174 ราย) ภาคเหนือ (133 ราย) ภาคตะวันออก (66 ราย) และภาคใต้ (52 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อ
พิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,135,016 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 16,112.41 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 14,195.76 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 888 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 867 ราย ใน 74 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (80 ราย) กรุงเทพมหานคร (71 ราย) และขอนแก่น (51 ราย)
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 168 ราย ใน 50 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 151 ราย ใน 46 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (25 ราย) อุดรธานี (10 ราย) อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร (จังหวัดละ 9 ราย)
(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 222,920 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 4,620.59 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 29,571 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 629.44 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.62 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 36,524 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 858.11 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.57 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 10,257 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2564 จำนวน 163 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599
- ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
- ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.)
โทร. 0 2575 3344
สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย อัตรากำไรจากการให้สินเชื่อ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด (อัตราดอกเบี้ยฯ) แบบมีหลักประกันรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) และแบบไม่มีหลักประกันรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)
สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยฯ สำหรับวงเงินรวมสินเชื่อในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท แบบมีหลักประกันรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) และแบบไม่มีหลักประกันรวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) และสำหรับวงเงินรวมสินเชื่อในส่วนที่เกินกว่า 50,000 บาทขึ้นไป ทั้งแบบมีและไม่มีหลักประกันเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยฯ ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)