“นำพล” ชี้ 3 ปัจจัยลบกระทบอุตฯเซรามิก
COTTO เผย ต้นทุนพลังงานสูง ฉุด รายได้ปี 61 ลดลง เดินหน้าขยายตลาดกลุ่ม CLMV ชี้ 3 ปัจจัยลบ กระทบอุตสาหกรรมเซรามิก นักลงทุนในประเทศชะลอซื้อที่อยู่อาศัย
นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด มหาชน (COTTO) เปิดเผยว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,713 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลประกอบการปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 11,557 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 11
ทั้งนี้แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออก 2,534 ล้านบาท และขายในภูมิภาคอาเซียน 1,833 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีรายได้จากการส่งออก 527 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณขายในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของปริมาณขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินทรัพย์รวมของ COTTO ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีมูลค่า 11,725 ล้านบาท
นายนำพล กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าไตรมาสที่ผ่านมาตลาดจะเติบโตขึ้น 1% จากราคาเกษตรที่สูงขึ้นและสัญญาณการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงแต่เมื่อมองในภาพรวมของทั้งปีจะเห็นว่าตลาดยังคงชะลอตัวอยู่ -2% ประกอบกับปัจจัยลบที่สำคัญคือต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผลประกอบการของ COTTO ในไตรมาส 4 และโดยรวมปี 2561 มีรายได้ลดลง”
ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2562 จะเติบโตร้อยละ 5-10 จากการควบรวมธุรกิจ การสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ และสร้างการรับรู้ให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมขยายช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุม โดยเฉพาะการขายผลิตภัณฑ์เข้าไปในงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งได้รับอานิสงส์ดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐ ทำให้มีงานก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ มากขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทฯ เน้นการทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV โดยตั้งเป้าการส่งออกเติบโตมากกว่าในประเทศ จากปีก่อนมีสัดส่วนรายได้การส่งออกที่ 22% และในปีนี้บริษัทได้ตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 500-600 ล้านบาท 15-20% ของงบลงทุน จะขยายสาขาร้านคลังเซรามิค และใช้ในการปรับปรุงการผลิตเพื่อลดต้นทุน
ทั้งนี้บริษัทคาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมเซรามิกปีนี้จะทรงตัวจากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมอยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท โดยยังต้องติดตามปัจจัยการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะหลังการประกาศผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าทุกรัฐบาลมีความสนใจในด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว และมองว่าปัจจุบันมีกำลังการผลิตส่วนเกินทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (over supply) ซึ่งปัจจุบันบริษัทใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 70-80%
ส่วนปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซรามิก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของนักลงทุนภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดว่าในปี 2562 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่สูงขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยมีปัจจัยบวกที่เป็นโอกาสดีของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มกระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากโครงการ Mixed use หรือการก่อสร้างเพื่อการพาณิชยกรรมภาย ใต้แนวคิดการรวมกันของกลุ่มผู้อยู่อาศัยและกลุ่มการค้าเพื่อการพาณิชย์ ที่มีโครงการที่มูลค่าสูงกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งได้เริ่มทยอยก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปยังพื้นที่ในเมืองอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ
รวมทั้งนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่ผู้ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างบ้าน รวมถึงโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าและมอเตอร์เวย์ที่ทำให้การเดินทางออกสู่ชานเมืองและต่างจังหวัดสะดวกขึ้น ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์พื้นที่ชานเมือง ปริมณฑลและจังหวัดทางตะวันออก บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าปัจจัยบวกเหล่านี้จะส่งผลให้ภาพรวมของตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2562 มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น